วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

"จาตุรนต์" ชี้ รัฐบาลงูเห่า-ประยุทธ์อยู่ยาก เทียบสุจินดา 37 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


มีเหตุการณ์ทางการเมือง 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมเหมือนกัน แต่ห่างกันหลายปีคือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 การสลายการชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาเมื่อปี 2553 และการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557

ไม่นับการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เพิ่งผ่านไปและอาจจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีกันในเดือนนี้ด้วยนะครับ

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เหตุการณ์หนึ่ง ผมเองก็ไปร่วมรำลึกเหตุการณ์นี้มาหลายครั้ง ทั้งในฐานะตัวแทนรัฐบาล ตัวแทนพรรคการเมืองและไปเป็นส่วนตัว ระยะหลังๆไม่ค่อยได้ไป บอกกันตรงๆก็เป็นเพราะเห็นว่าผู้ที่เคยร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์นี้ด้วยกันมาหลายคนกลายเป็นผู้สนับสนุนการรัฐประหารหรือสนับสนุนนายกฯคนนอก แล้วก็ยังมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดงานหรือมาร่วมงานกันอย่างหน้าชื่นตาบานกันอยู่

แต่ผมก็ยังเห็นว่าเหตุการณ์พฤษภา 35 นี้มีความหมายทางประวัติศาสตร์ที่ควรรำลึกจดจำและศึกษาหาบทเรียนสำหรับสังคมไทยอยู่นะครับ

เหตุการณ์พฤษภา 35 เกิดขึ้นหลังจากที่ประชาชนไทยว่างเว้นจากการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้นมานานถึง 15-16 ปี ประชาชนไทยในขณะนั้นปฏิเสธการสืบทอดอำนาจเผด็จการของผู้ที่ทำรัฐประหาร 1 ปีก่อนหน้านั้น มีประเด็นที่ชูกันขึ้นมาในการต่อสู้คือต้องแก้รัฐธรรมนูญ ไม่เอานายกฯคนนอกและต่อมามีเรื่องการตระบัดสัตย์ของผู้นำรัฐประหารที่มาเป็นนายกฯบวกเข้ามาด้วย

ก่อนหน้านั้น ประเทศไทยเพิ่งผ่านช่วงของเผด็จการเต็มขั้นและต่อด้วยประชาธิปไตยครึ่งใบรวมๆกันนานถึง 10กว่าปี เพิ่งมีรัฐบาลจากพรรคการเมืองบริหารได้เพียงสั้นๆ แต่สังคมไทยก็กลับเข้าใจได้ว่าการปกครองแบบเผด็จการนั้นไม่ใช่เรื่องดีและต้องการให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าก่อนการรัฐประหารเสียอีก

พูดแบบไม่ใช่มองโลกสวยหรูเกินไปก็คงต้องยอมรับว่าสาเหตุหนึ่งที่มีหลายฝ่ายร่วมกันต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการในครั้งนั้นอย่างกว้างขวางก็เป็นเพราะถึงแม้คณะทหารที่ทำการรัฐประหารครั้งนั้นมีอำนาจมากก็จริง แต่จำกัดตนเองอยู่ในรุ่นของตนเองพวกของตนเองอย่างคับแคบ ทำให้หลายฝ่ายแม้แต่ชนชั้นนำด้วยกันเองจำนวนมากก็ไม่พอใจหรืออาจถึงขั้นกลัวว่านายทหารกลุ่มนี้จะนำพาประเทศไปโดยไม่ฟังชนชั้นนำเลยก็ได้ พลังฝ่ายประชาธิปไตยจึงมีหลายฝ่ายเป็นพวก

ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในเหตุการณ์เดือนพฤษภา 35 ที่มักพูดถึงกันคือเหตุการณ์นี้มักถูกเรียกว่าเป็น "ม็อบมือถือ” (ซึ่งยังไม่เป็นสมาร์ทโฟน) ผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัดเป็นคนวัยทำงานที่ติดต่อสื่อสารกันได้เร็วกว่าสมัยก่อนหน้านั้นด้วยโทรศัพท์มือถือซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น

การชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจเกิดขึ้นหลังจากเริ่มมีความชัดเจนว่าจะมีการสืบทอดอำนาจแน่แล้ว รัฐบาลพลเอกสุจินดามีพรรคการเมืองที่มีคณะรัฐประหารบงการให้ตั้งขึ้นเป็นแกน มีพรรคการเมืองอีกจำนวนหนึ่งสนับสนุน

หลังจากเหตุการณ์พฤษภา 35 พรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจถูกเรียกว่า “พรรคมาร” ส่วนพรรคฝ่ายค้านถูกเรียกว่า “พรรคเทพ”

รัฐบาลพลเอกสุจินดาอยู่ในตำแน่งได้เพียง 37 วันเท่านั้น

27 ปีต่อมา มีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วและพรรคการเมืองที่มีคณะรัฐประหารอยู่เบื้องหลังกำลังเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อไป ตามระบบที่วางไว้ระบบเผด็จการที่อยู่มาแล้ว 5 ปี อาจอยู่ยาวนานต่อไปอีก 8 ปีหรือ 20 ปี

เทียบกับรสช.ในอดีตแล้ว คสช.สามารถผนึกกำลังกับชนชั้นนำด้วยกันกว้างขวางกว่ามาก วางระบบได้แยบยลซับซ้อนกว่าและมีเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พวกเขามาถึงจุดนี้ได้คือเรื่องความไม่สงบที่ผู้มีอำนาจได้ร่วมกันอยู่เบื้องหลังสร้างสถานการณ์ขึ้นจนทำให้คนจำนวนมากเข็ดขยาดไม่อยากเจออีก ยอมที่จะอยู่ใต้ระบอบเผด็จการเพื่อแลกกับความสงบที่จอมปลอม

แต่เทียบกับเมื่อ 27 ปีก่อนสังคมไทยก็เปิดมากขึ้น ต้องพึ่งพาอาศัยโลกมากขึ้น ผู้คนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น คนรุ่นใหม่ตื่นตัวและเข้าร่วมทางการเมืองมากขึ้น ในเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสาร สมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ตก็ก้าวหน้ากว่ามือถือในสมัยโน้นแบบเทียบกันไม่ได้เลย

ผู้นำเผด็จการอยู่มาแล้ว 5 ปี และกำลังจะสืบทอดอำนาจโดยผ่านกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมสารพัด ตั้งแต่การเขียนกติกาต่างๆมาจนถึงการนับคะแนนประธานสภา การตระบัดสัตย์ก็กำลังจะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องนัดกัน ไม่นับว่าจะมีงูเห่าผลุบๆโผล่ๆแบบซ้ำซากตลอดอายุของรัฐบาลด้วย

รัฐบาลสุจินดาอยู่ได้ 37 วัน รัฐบาลประยุทธ์จะอยู่ 8 ปี 20 ปี คงไม่ง่ายนักหรอกครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น