วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"ทวี" เผยท่าทีพรรคฝ่ายค้าน มุ่งตรวจสอบ พ.ร.ก.เงินกู้ ทั้ง 3 ฉบับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ท่าทีพรรครวมฝ่ายค้านต่อ พ.ร.ก. กู้เงิน 3 ฉบับ

ความเห็นเบื้องต้นของหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านซึ่งประกอบด้วย นายสมพงศ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และทีมคณะทำงานประสานงานพรรครวมฯ ที่มี พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ประธานประสานงานพรรครวมฝ่ายค้านพร้อมด้วยที่ปรึกษา ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร รศ. ชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงศึกษาธิการ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทยและนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาพรรคก้าวไกล ซึ่งมี นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขาคณะประสานงานฯ ต่อท่าที่ของฝ่ายค้านที่มีต่อ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ ฝ่ายค้านไม่ขัดข้องกับการกู้เงิน เพราะเล็งเห็นถึงความจำเป็น แต่ทักท้วงในด้านการนำไปใช้จ่าย และศักยภาพของรัฐบาลที่เป็นผู้ใช้งบการใช้งบต้องเกิดประโยชน์ ถูกต้อง ครอบคลุม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญเงินที่กู้มาเป็นการก่อหนี้สาธารณะที่คนไทยในปัจจุบันและที่จะเกิดเป็นคนไทยในอนาคตต้องร่วมกันใช้หนี้ที่เกิดจากรัฐบาลกู้ในครั้งนี้ทุกคน

ตัวอย่าง กรณี วิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ที่รัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนั้นได้โอนหนี้ของเอกชน(56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ) ให้เป็นหนี้สาธารณะ ประมาณหนี้ 1 ล้านล้านบาทเศษซึ่งปัจจุบันผ่านมา 23 ปี ยังมีหนี้สาธารณะส่วนนี้ประมาณ 748,838 ล้านบาท(ณ สิ้น มี.ค.63) ซึ่งคนไทยที่เกิดหลังปี 40 ไม่ได้รู้เรื่องการก่อหนี้ของคนในอดีตเลยแต่ต้องรับภาระชำระหนี้

ดังนั้น ฝ่ายค้านมีประเด็นตั้งข้อสังเกต คือ

1. พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท)

โดยมีข้อพิจารณาดังนี้
• พ.ร.ก. เงินกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทสามารถแยกพิจารณาเป็น 3 กลุ่มใหญ่
• ส่วนที่ 1: แก้ไขการระบาดโควิด-19 (45,000 ล้านบาท) : รัฐบาลต้องสามารถตอบคำถามให้ได้ว่า งบการก้อนที่มีรายละเอียดการใช้จ่ายอย่างไร เงินนอกเหนือจากการรักษาผู้ป่วยที่โฆษก ศบพ บอกว่าใช่คนละ 1 ล้านบาท คือประมาณ 3,000 ล้านบาท ทำไม่จึงไม่ช่วยเหลือเรื่อการป้องกัน คือกระจายงบประมาณสู่ เครือข่าย อสม. ซึ่งถือเป็นฮีโร่ตัวจริงกับการหยุดการระบาด และควรได้รับการยกย่อง กับการตรวจหาเชื้อโควิดแบบปูพรหมฟรี ตาม รธน 60 ม 47 วรรคท้าย “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” ที่ผ่านมาช่วงต้นๆรัฐบาลบกพร่องปล่อยให้ประชาชนเสียค่าตรวจแพง น่าจะไม่ชอบด้วยเหตุผลและรัฐธรรมนูญ

• ส่วนที่ 2: การช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ (555,000 ล้านบาท) : เงินเยียวยามีปัญหาในเชิงปฏิบัติ ยิ่งคัดกรองมาก ยิ่งหลุดมาก ไม่ครอบคลุม ไม่ทั่วถึง ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมและโศกนาฏกรรม เนื่องจากประชาชนเป็นคนจ่ายภาษี ควรใช้ระบบถ้วนหน้าในการเยียวยาเป็นหลักการเยียวยาเป็นสิทธิเสมอกันที่ทุกคนควรได้รับอย่างเสมอหน้า

• ส่วนที่ 3: งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ (400,000 ล้านบาท) : เป็นส่วนที่จะมีปัญหามากที่สุด มีข้อสังเกตว่าแบ่งตามกระทรวงต่าง ๆ ไว้หมดแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสภา และตามที่รัฐบาลกล่าวถึงทิศทางการใช้เงินก้อนนี้ ไม่ตอบโจทย์ และไม่ได้คิดถึงภาพใหญ่ และโอกาสของประเทศ เพราะจะสนับสนุนการจ้างงานภาคการเกษตร ใช้ฝึกอบรม รวมถึงใช้เป็นงบชุมชน เปิดช่องการใช้เป็นเงินเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แจกจ่ายให้กับ ส.ส. เสมือนเป็นการตีเช็คเปล่า หรือนำไปทำโครงการแบบเดิม ๆ เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง โดยโครงการต้องเป็นไปเพื่อตอบสนองและตอบโจทย์เรื่องโควิด ไม่ใช่ใช้จ่ายไปทั่ว

• เนื่องจาก พ.ร.ก. ฉบับนี้ รมว.คลังเป็นผู้รับผิดชอบ โดย*นายกฯลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบ ทั้ง ๆ ที่ความรับผิดชอบควรเป็นนายกฯซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และเป็น “ระบบของคณะกรรมการ” จำนวน 11 คน เป็นข้าราชการประจำตำแหน่งวิชาการและอำนวยการ 6 ตำแหน่ง คือเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ ,ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ,ปลัดกระทรวงการคลัง ,ผู้อานวยการสำนักงบประมาณ ,ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, ผู้อำนวยการสานักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจานวนไม่เกิน 5 คน เป็นกรรมการ ซึ่งไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิจะสามารถตั้งใครก็ได้ เห็นว่าทั้ง 11 คนมีอำนาจและหน้าที่ในการวางแผน กำหนดในใช้เงิน 1 ล้านล้าน (ตามมาตรา 8)ที่เป็นภาษีอากรของประชาชน การไม่กำหนดเงื่อนไข ข้อห้ามเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ ที่อาจมีการสั่งการโดยผู้มีอิทธิพล เช่นผู้มีบุญคุณ หรือผู้แต่งตั้งกรรมการดังกล่าว เพื่อให้ใช้อำนาจสถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อหาประโยชน์ของตนเองของผู้อื่น โดยมิชอบได้ และไม่มีบทกำหนดโทษเฉพาะกรรมการไว้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการที่กระทำผิดเฉพาะไว้

นอกจากนี้ พรก กำหนดลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นกรณีที่สามารถจัดทำงบประมาณในปี 2564 ได้ น่าจะมีประเด็นที่น่าจะไม่ชอบด้วย พรบ วินัยการเงินการคลังของรัฐ ด้วย

2. พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

ฝ่ายค้านเห็นความจำเป็นต้องช่วยเหลือ ต้องโปร่งใสและไม่เลือกปฏิบัติ เพราะข้อมูล SME มีประมาณ 3.7 ล้านราย เป็นขนาดเล็กประมาณ 3.3 ล้านราย และขนาดกลางประมาณ 4 แสนราย

ฝ่ายค้านมีข้อพิจารณา ที่เห็นว่าอาจเป็นช่องทางเอื้อประโยชน์ให้ให้พวกพ้อง คือ

• ดุลยพินิจของการปล่อยกู้ อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ ที่มีแนวโน้มปล่อยให้ลูกค้าเดิมที่แข็งแรงอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องการความเสี่ยงเพิ่ม และไม่ต้องมีขั้นตอนวุ่นวาย ไม่ต้องประเมินหลักทรัพย์ จึงส่งผลให้ลูกค้าที่แข็งแรง (ซึ่งมีแนวโน้มเป็นขนาดกลางขึ้นไป) ได้ประโยชน์จากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่ SMEs ที่ประสบปัญหา ได้รับผลกระทบจากโควิด ก็ยังคงเข้าไม่ถึงสินเชื่อเหมือนเดิม
• มีช่องทางที่เอกชนรายที่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อ เอาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไปปล่อยต่อให้เอกชนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในราคาสูง มีลักษณะเหมือนสินเชื่อนอกระบบ รายใหญ่ได้ประโยชน์ รายเล็กโดนเอาเปรียบ
• โดยธรรมชาติธนาคารพาณิชย์ต้องมุ่ง 'กำไร' และไม่มีความจำเป็นที่ต้องช่วยสนับสนุนธุรกิจเล็ก ๆ ของของประชาชน ถ้าทำก็ทำเพียงให้เห็นเป็นพิธีเท่านั้น
• นโยบาย Soft Loan ดีที่หลักการ แต่ธรรมชาติและกลไกมันไปคนละทางและ ธปท. ต้องเรียนรู้และอยู่อยู่กับความเป็นจริงและ ทุกวันนี้ที่มีธนาคารพาณิชย์เอา Soft Loan ปล่อยอยู่บ้าง ก็เป็นไปเพื่อสร้างภาพเท่านั้น
• จำนวนเงินที่ SMEs จะกู้ได้ ดูๆแล้วมันเหมือนกับจะไม่ช่วยอะไรได้สักเท่าไหร่ เพราะมีการกำหนดเอาไว้ว่าให้กู้แต่ละรายไม่เกินร้อยละ 20 ของหนี้สินที่เหลืออยู่ จึงทำให้ SMEs ที่ชำระหนี้ไปเกือบหมดก็กู้ได้น้อยตามสัดส่วน

3. พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563

ฝ่ายค้านเห็นว่ามีความจำเป็นต้องในการักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจฯ แต่มีข้อพิจารณาในเรื่องการเอื้อประโยชน์และความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ คือ
• ธนาคารชาติมีหน้าที่เป็นธนาคารของรัฐบาล และเป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ ไม่มีหน้าที่ลงไปจัดสรรสินเชื่อเอง ซึ่งอาจขาดทุนเป็นภาระภาษีของประชาชน
• ทำให้ธนาคารชาติขาดความเป็นกลาง ขาดความน่าเชื่อถือ
• มี ‘คณะกรรมการ’ 2 คณะ ไม่มีห้ามเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของคณะกรรมการและระบบอนุญาตไว้ จึงเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้ (ขัดหลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสาม) ที่กฎหมายหรือ พรก ให้หลีกเลี่ยงระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการ และหากมีความจำเป็น จะต้องบัญญัติเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ เพื่อไม่ให้กรรมการใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อหาประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น โดยมิชอบ และไม่มีบทกำหนดโทษคณะกรรมการกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะไว้ (ต่างกับ พรก ปรส ในปี 40 ที่กำหนดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ชัดเจน)
• รัฐมนตรีคลังมีอำนาจล้น ตาม “มาตรา 5 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชกาหนดนี้ ให้รัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้ถือเป็นที่สุด และให้ผู้เกี่ยวข้อง ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้น” รมว คลังมีอำนาจสูงสุด เสมือนเป็นศาลฎีกาหรือศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เองเพียงคนเดียว ไม่ต้องมีองค์คณะ 3 คน หรือ 9 คน เหมือนศาลฎีกาหรือศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด
• ควรทำตามขั้นตอนเดิม คือให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณารับซื้อตราสารหนี้เอกชนตามความเสี่ยง จากนั้นธนาคารพาณิชย์สามารถนำตราสารหนี้เหล่านี้ มาค้ำประกันเพื่อกู้เงินเสริมสภาพคล่องจากธนาคารชาติ
• หากบริษัทใดผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้รับความเสี่ยง ธนาคารชาติเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของระบบตลาดการเงิน ตามหน้าที่ที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นระบบปกติ ซึ่งจะดีกว่าธนาคารชาติเข้าไปทำการจัดสรรสินเชื่อเอง แม้มีคณะกรรมการ ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจถูกกล่าวหาใช้เงินรัฐอุ้มคนรวย อาจเกิดปัญหาคอรัปชัน และเกิดความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ

ขอนำคลิปการแถลงข่าวของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ตามแนบ

https://www.facebook.com/110443097111966/videos/952914631812886/?vh=e&d=n

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
ประธานคณะทำงานประสานงานพรรครวมฝ่ายค้านและเลขาธิการพรรคประชาชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น