วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"สุดารัตน์" เผย ยังไม่มีรายละเอียด พ.ร.ก.เงินกู้ ก่อนเข้าสภาพุธนี้

ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ระบุ พ.ร.ก.เงินกู้ ที่จะเข้าสภาพุธนี้ ไม่มีรายละเอียดของการใช้เงินกู้ เหมือนให้สภาอนุมัติเช็คเปล่า สภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่สภาตรายาง หวั่นใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ ส่อทุจริต / มองต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะห่วงมั่นคงตนเอง เชื่อกระทบประชาชนทำมาหากิน 


คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ระบุว่าปัญหาเศรษฐกิจปากท้องกำลังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประชาชนทุกหย่อมหญ้า รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการใน 3 เรื่องหลักคือ
1) เร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลที่ให้ปิดเมือง
ปิดกิจการ
2) เร่งช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย SMEs ก่อนธุรกิจเหล่านี้จะหมดลมหายใจ
3) เร่งปลด Lock เปิดเมือง เปิดกิจการอย่างปลอดภัย โดยให้มีข้อกำหนดทางสาธารณสุขที่ชัดเจน

 “ยิ่งปลดLockช้า เศรษฐกิจยิ่งสาหัส”

เราต้องช่างน้ำหนัก ในการออกมาตรการในการควบคุมโรคให้เหมาะสม กับความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจที่กำลังเป็นปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะในขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ลดลงอย่างมาก มาต่อเนื่อง จึงถึงเวลาที่จะปลดล็อค เปิดให้โอกาสประชาชนกลับมาทำมาหากินได้

ถึงวันนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกต่อไปอีก เว้นแต่จะนำเรื่องCOVID มาเป็นข้ออ้างโดยรัฐบาล อาจห่วงความมั่นคงของตัวเองมากเกินไปจึงใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือ จะเห็นได้จากการปิดกั้นการแสดงออกในโอกาสครบรอบ6 ปีรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับโรคติดต่อ วิธีการเหล่านี้จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาใหม่และความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างการประชุมหารือ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาและจะมีการพูดคุยในช่วงเสาร์อาทิตย์ถึงแนวทางการอภิปราย พระราชบัญญัติกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท พร้อมจะนำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไปพูดคุยในสภาผู้แทนราษฎร หลังรัฐบาลสั่งปิดกิจการ จนประชาชนได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะมีประเด็นที่น่าจับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการกู้เงินที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ที่สำคัญคือเรื่องการขออนุมัติโดยใช้พ.ร.ก.เงินกู้ กลับไม่มีรายละเอียดของโครงการอย่างชัดเจน แล้วสภาฯจะสามารถพิจารณาได้อย่างไร? อย่าคิดว่าสภาผู้แทนราษฎร เป็นสภาตรายางเหมือนที่ผ่านมา ดังนั้น การออกพ.ร.ก.ในลักษณะเช่นนี้ พรรคเพื่อไทย จึงไม่เชื่อใจ ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพและความสามารถในการใช้เงินให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ขณะเดียวกันยังกังวลว่า การที่พระราชกำหนดเงินกู้ไม่มีความชัดเจนจึงมีความเสี่ยงที่ส่อว่าจะเกิดการทุจริตได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น