วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"ชวลิต" ติงรัฐ ไม่พร้อมจัดเรียนออนไลน์

"ชวลิต" แนะ ศธ.ทบทวนการเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองครวญ แค่อาหารกลางวันยังต้องไปฝากท้องที่โรงเรียน


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นต่อนโยบายการเรียนออนไลน์ของกระทรวงศึกษาธิการสรุปว่า

หัวใจสำคัญสูงสุด คือ ความไม่พร้อมของผู้ปกครอง เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง ที่พอแก้ไขได้

อย่าลืมว่า 5 - 6 ปี ที่ผ่านมาก่อนมีไวรัสโควิด -  19 ระบาด รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องได้ ส่งผลให้ตัวเลขคนจนพุ่งพรวด เห็นได้จากมีผู้ไปจดทะเบียนคนจน กว่า 14 ล้านคน

หลังโควิดมา ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหา ได้เกิดความบกพร่องในการบูรณาการแผนงานปิดเมือง และการปิดกิจการบางประเภท ระหว่างเมืองกับชนบท ส่งผลให้เกิดคนจนเฉียบพลัน ตัวเลขคนที่เดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจขอเงินเยียวยาพุ่งพรวดไปถึง 30 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ พล.อ.ประยุทธ์ ฯ ประชาสัมพันธ์เอง

ดังนั้น จากสภาพการณ์ความยากจนของผู้ปกครองภายใต้การบริหารของรัฐบาลนี้ก่อนโควิดมา และมาถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากพิษโควิดซ้ำอีก ต้องยอมรับความจริงว่า

ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ย่ำแย่ ไม่พร้อมในการสนับสนุนการเรียนออนไลน์ของเด็กนักเรียน ลำพังผู้ปกครองจะประคับประคองชีวิตให้ครอบครัวพออยู่ พอกิน ยังลำบาก ดังนั้น นโยบายการเรียนออนไลน์จึงเสมือนกับการผลักภาระให้ผู้ปกครองรับภาระมากขึ้นโดยปริยาย

อยากจะเรียนว่า หลายครอบครัวจำนวนมาก หวังให้ลูกฝากท้องไว้กับโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียน

ดังนั้น สิ่งที่สังคมควรฉุกคิด ช่วยกันพิจารณาว่า ทำอย่างไรเปิดเทอมที่จะถึงนี้ โครงการอาหารกลางวันถึงจะมีคุณภาพ เด็ก ๆ ได้รับประทานอาหารครบหมู่ การเรียนถึงจะมีคุณภาพ
             
ผู้ที่มีฐานะพอจะแบ่งปันให้ลูก หลานของเราได้มีอาหารกินอิ่มท้องในช่วงโรงเรียนเปิด โปรดช่วยกันหาแนวทางไว้ด้วย โดยเฉพาะศิษย์เก่าแต่ละโรงเรียน เมื่อมีความพร้อม ควรจะกลับมาดูแลรุ่นน้อง ๆ ได้บ้าง อย่างไร หรือไม่?
            
ส่วนการเรียน การสอน ขอให้กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดตามปกติ โดยควรกระจายอำนาจให้โรงเรียนพิจารณาโดยความเห็นชอบของ สคบ.จังหวัด พิจารณาเปิดสถานศึกษาตามความเหมาะสม หากเปิดการเรียนออนไลน์ เปิดบ้าง ไม่เปิดบ้าง ตามความพร้อมของแต่ละสถานศึกษา ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งมากขึ้น ๆ 
            
จึงขอได้โปรดทบทวนนโยบายการเรียนออนไลน์ เพราะ ผู้ปกครองในชนบทจำนวนมากยังไม่พร้อมครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น