วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

ดร.จรัล อัมพรกลิ่นแก้ว - การท่องเที่ยวในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: โอกาสและการเตรียมพร้อม จากการระบาดของโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19) ระลอกใหม่

บทความพิเศษ - การท่องเที่ยวในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: โอกาสและการเตรียมพร้อม จากการระบาดของโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19) ระลอกใหม่ โดย ดร.จรัล อัมพรกลิ่นแก้ว

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกลุ่มประเทศที่ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการจะเปิดพรมแดนให้นักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างประเทศ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19)  เพราะเมื่อเกิดการระบาดของโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19)  รอบที่ผ่านมา การท่องเที่ยวระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ก็พังทลายลง ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยซึ่งการท่องเที่ยวมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีถึง 18% และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคนต่อปี ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็คาดการณ์ว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวเพียงแค่ 6.9 ล้านในปี 2020 และ 8 ล้านคนในปี 2021 เท่านั้น

เพื่อให้ความเสียหายนี้บรรเทาเบาบางมากที่สุด กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ด้วยการสนับสนุนด้านการตลาดและอุดหนุนงบประมาณเพื่อให้คนในประเทศท่องเที่ยวเพื่อรอจนกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมา ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลเวียดนามเปิดตัวแคมเปญ “ชาวเวียดนามเดินทางในเวียดนาม” กระตุ้นส่งเสริมให้คนท้องถิ่นท่องเที่ยวในประเทศด้วยมาตรการลดราคาค่าโดยสาร เพิ่มเที่ยวบินภายในประเทศ ซึ่งก็สร้างกระแสให้ชนชั้นกลางในเวียดนามสนใจเดินทางไปพักผ่อนมากขึ้น ยกตัวอย่างในเวียดนามมีนักท่องเที่ยวในประเทศถึง 80 ล้านคนในปี 2019 

แนวโน้มการท่องเที่ยวที่ดีที่สุดคืออะไร?

ธุรกิจท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมมุ่งแค่ขายทัวร์ให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องกลับมาคิดใหม่ว่าจะปรับตลาดภายในประเทศอย่างไรเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศ ต้องมีการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ กำหนดกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวภายในประเทศให้ตรงเป้าและชัดเจน หาไลฟ์สไตล์กลุ่มประชากรท่องเที่ยวเหล่านี้ให้เจอ เช่น นักท่องเที่ยววัยหนุ่มสาวในกัมพูชามักชอบการเดินทางแบบผจญภัยโดยมีผลจากการเติบโตขยายผลของสื่อโซเชียลมีเดีย ทำนองเดียวกับประเทศลาว ที่มีแคมเปญ “ลาวเที่ยวลาว” มุ่งจับตลาดนักท่องเที่ยวหนุ่มสาวที่ชอบท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ผจญภัยป่าเขา พวกเขาเหล่านี้คือกลุ่มเป้าหมายที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในระหว่างที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา

ต้องระบุตลาดใหม่ๆ ให้ชัดเจน

นักท่องเที่ยวที่น่าสนใจแต่ถูกละเลย คือคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในแต่ละประเทศ เขาเหล่านี้มีจำนวนมาก รายได้สูง และมีความสนใจในวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมและเป็นกลุ่มที่ถ้ามาเป็นลูกค้าได้ก็จะมีแต่กำไร เพียงแต่ว่าจะต้องหาความต้องการที่พอดีกับไลฟ์สไตล์ของเขา แทนที่จะไปเสนอแพ็คเกจท่องเที่ยวแบบนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไปเพราะเขารู้จักดีกว่าอยู่แล้ว เป็นการเพิ่มเสริมองค์ประกอบอื่นเช่นด้านการดูแลสุขภาพ  ยกตัวอย่างเช่นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติภายในประเทศด้วยข้อเสนอและส่วนลดน่าสนใจจำนวนมาก

ต้องพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวในชนบท

การระบาดของโคโรนาไวรัส (COVID-19)   ได้สร้างความต้องการที่จะกลับไปท่องเที่ยวตามชนบท เชิงธรรมชาติ โดยนักท่องเที่ยวต้องการฟื้นฟูทั้งสภาร่างกาย จิตใจ พฤติกรรม และหลีกหนีข้อจำกัดและการล็อกดาวน์ โดยเปลี่ยนพฤติกรรมการเที่ยวตามเมืองใหญ่ ไปยังชนบทห่างไกล  โดยผลการศึกษาล่าสุดของ ADB พบว่านักท่องเที่ยวในประเทศเกาหลีไต้และไทย เปลี่ยนไปท่องเที่ยวในชนบท พื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรน้อย แทนที่จะเป็นเมืองใหญ่ ดังนั้นการท่องเที่ยวในชนบทจึงสามารถพัฒนาต่อยอดไปในเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงอาหาร และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ตลอดจนสามารถสร้างกลยุทธ์กระจายความหลากหลายไปยังเมืองรองปลายทาง ด้วยเป้าหมายที่จะใช้โอกาสนี้สร้างรายได้ให้ชนบท ลดความยากจน และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งกองทุนขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในชนบท ให้มีความหลากหลายและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในด้านต่างๆไปพร้อมกัน 

สนับสนุน SMEs และ Startups

เนื่องจากความต้องการของนักท่องเที่ยวในชนบทเริ่มกว้างและหลากหลายมากขึ้น ธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็กและขนาดกลางจึงมีความสำคัญมากขึ้นในการรองรับและยืดหยุ่นต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ในระยะยาว รัฐบาลความสนับสนุนให้ธุรกิจท่องเที่ยวเหล่านี้ให้อยู่รอดในช่วงเวลาที่ยากลำบาก รัฐบาลอาจใช้มาตรการลดหย่อนภาษี การใช้การอุดหนุนเงินสดให้นักท่องเที่ยว ส่งเสริม digital transformation สนับสนุนการใช้ธุรกิจออนไลน์และแพลตฟอร์มที่สามารถสร้างความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและยังเป็นแหล่งรายได้จากต่างชาติใหม่ๆ อีกด้วย 

ซึ่งอีกแง่หนึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19)   ได้เสริมสร้างความคิดสร้างสรรใหม่ๆ ให้กับการเดินทาง ท่องเที่ยว พักผ่อน ธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ในภูมิภาคนี้ให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนที่กำลังเดินทาง เช่นประเทศไทย มีคาเฟ่ ที่นำเสนอประสบการณ์การรับประทานอาหารบนเครื่องบินในเครื่องบินเก่า ซึ่งความพยายามในการสร้างสรรค์เช่นนี้ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน

จะต้องเข้าใจนักท่องเที่ยวภายในประเทศให้ดีขึ้น

การท่องเที่ยวภายในประเทศไม่ค่อยได้รับการศึกษาวิจัยเท่าที่ควร ดังนั้นถ้าจะเพิ่มศักยภาพสูงสุดให้การท่องเที่ยวภายในประเทศ ต้องมีการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรม ความชอบของนักท่องเที่ยวภายในประเทศ ในขณะที่รัฐบาลมุ่งแต่ศึกษาวิจัยแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ  ดังนั้นการเกิดการระบาดของโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19)  จึงเป็นโอกาสที่จะได้ทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวภายในประเทศและต่างประเทศว่ามีพฤติกรรมการบริโภค ความชอบ และกิจกรรมแตกต่างกันอย่างไร

ดังนั้น เราจึงควรใช้ช่วงเวลาที่มีโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19) เป็นการรีเซ็ต สร้างสมดุลใหม่ระหว่างการท่องเที่ยวภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มั่นคงและยั่งยืน  เพื่อให้การท่องเที่ยวภายในประเทศและต่างประเทศเติบโตสมดุล เพื่อให้นักท่องเที่ยวหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ทำงานให้ความสนใจ ใส่ใจต่อการท่องเที่ยวในประเทศ ดึงดูดผู้ประกอบการและนักลงทุนให้ประคองตัวได้แม้จะขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และท้ายสุดจะต้องสำรวจศักยภาพของการท่องเที่ยวภายในประเทศที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวบ้านที่จะมาร่วมลงทุนในภาคส่วนนี้ จึงหวังว่าในวิกฤติครั้งนี้จะเป็นโอกาสนำภาคการท่องเที่ยวปรับตัวได้อย่างสมดุลยั่งยืนแข็งแรงมากขึ้นต่อไป

------------------------------------

แปลและสรุปจากบทความ : Domestic Tourism in Southeast Asia: Opportunities and Pathways - Matthias Helble and Jaeyeon Choe โดย Matthias Helble and Jaeyeon Choe

อ้างอิง https://www.adb.org/news/op-ed/domestic-tourism-southeast-asia-opportunities-and-pathways-matthias-helble-and-jaeyeon

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น