วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

"เพื่อไทย" นั่งประชุมออนไลน์ที่พรรค เสนอรัฐ 4 ข้อ แก้ปัญหาโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ พรรคเพื่อไทย จัดการประชุมออนไลน์ ฟอรั่มพิเศษ “รับมือโควิดอย่างไร ไม่ให้ประเทศพัง” ร่วมเสนอทางออกจากวิกฤติ ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านของพรรคเพื่อไทย โดยใช้เวลาประชุมออนไลน์ประมาณ 48 นาที โดยมีผู้แสดงความคิดเห็น 5 คน ประกอบด้วย นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมการนโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีต รมว.พลังงาน ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผอ.ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทย และ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ โดยมีการสรุปเนื้อหา เท่ากับ กระดาษ A4 จำนวน 2 หน้า ระบุ ข้อเสนอชุดมาตรการรองรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ดังนี้

พรรคเพื่อไทย เสวนา "รับมือโควิดอย่างไร ไม่ให้ประเทศพัง"

ข้อเสนอชุดมาตรการรองรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 

ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่นี้มีแนวโน้มจะมีจะรุนแรงทั้งในมิติลึกด้านความรุนแรง และมิติกว้างด้านจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบจากระลอกที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัว จำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากเป็นทวีคูณและมีอัตราเร่งมากกว่าการติดเชื้อครั้งแรก การระบาดในระลอกนี้จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ภาคเอกชน รวมถึงพี่น้องแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบอย่างยิ่งยวด พรรคเพื่อไทยโดยคณะกรรมการนโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทยเห็นถึงความสำคัญที่รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับ เยียวยา และรวมการป้องกันความเสียหายที่เหมาะสม แต่ปัจจุบันยังไม่มี จึงได้เสนอชุดมาตรการรองรับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ดังนี้ 

1. กลุ่มแรงงานในและนอกระบบ 

1.1. กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอิสระ ลูกจ้าง กลุ่มเปราะบาง และเกษตรกร (กลุ่มเดิมจากการเยียวยาครั้งก่อน) ให้ได้รับเงินสนับสนุนคนละ 15,000 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เท่ากับการเยียวยาให้ครั้งแรก) สำหรับนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของรัฐ และเงินสนับสนุนคนละ 18,000 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 6,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับในพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของรัฐ 

1.2. สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคม ใช้มาตรการคงการจ้างงาน (Job Retention Scheme) โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างโดยตรงผ่านผู้ประกอบการ เพื่อดำรงการจ้างงาน โดยเอกชนที่รับการสนับสนุนคงการจ้างงานไม่น้อยกว่า 90% ของจำนวนแรงงานเดิม ทั้งนี้ภาครัฐสนับสนุนเป็นระบบขั้นบันไดตั้งแต่ 50-60% ตามโซนจังหวัดตามความรุนแรงของการระบาด เป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนสิทธิ์อื่นตามประกันสังคมให้คงตามมาตรการของรัฐ 

1.3. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ สำหรับเอกชนที่สามารถจ้างงานเพิ่มกว่าจำนวนเดิม เพื่อสนับสนุนการจ้างงานเพิ่มเติมจากเอกชนที่มีกำลัง 

1.4. เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีผู้ตกงานจำนวนมาก เสนอให้จัดตั้งแพล็ตฟอร์มกลางเพื่อการจ้างงานในภาวะวิกฤติขนาดใหญ่ จับคู่ความต้องการ นายจ้าง-ลูกจ้างชนกันผ่านระบบ AI โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งสองฝ่าย 

2. กลุ่มผู้ประกอบการและ SMEs  

2.1. ใช้มาตรการทางการเงินที่ไม่ได้ใช้ในช่วงเวลาปกติ (Unconventional) ในการสร้างสภาพคล่อง โดยการตั้งกองทุนสินเชื่อเพื่อ SMEs ผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาท โดยไม่ผ่านกลไกของสถาบันการเงินพาณิชย์ 

2.2. แก้ไขข้อจำกัดและเงื่อนไขที่เข้มงวดของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำตาม พรก. Soft Loan เช่น ไม่เป็น NPL วงเงินไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง เป็นต้น 

2.3. ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐดำเนินมาตรการพักหนี้ผู้ประกอบการรวมถึงเกษตรกร ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และธนาคารหยุดคิดดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนธนาคารพาณิชย์ให้ภาครัฐชดเชยรายได้ดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักหนี้ 

3. กลุ่มประชาชนทั่วไป 

3.1. มาตรการลดภาระของประชาชน อุดหนุนภาระดอกเบี้ย สำหรับผู้ที่ผ่อนยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน 

3.2. ขยายระยะเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมวันที่ 31 มีนาคม 2564 เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2564 

3.3. ลดภาระประชาชนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ โดยภาครัฐสนับสนุนบางส่วน เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมถึงการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร 

3.4. มาตรการรองรับการเรียนออนไลน์ สนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์มือถือหรือแท็บเล็ตสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลน ดูแลการเข้าถึงอาหารกลางวันของนักเรียน 

4. มาตรการสร้างรายได้ กระจายโอกาส และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 

4.1. เร่งพัฒนาทุนมนุษย์ พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาทุกมิติ เร่งสร้างแพล็ตฟอร์มการเรียนออนไลน์ จัดหาอุปกรณ์ให้เด็กขาดแคลน จัดทำเนื้อหาหลักสูตรระดับโลก อีกทั้งเร่งสร้างและเพิ่มทักษะใหม่ให้คนทำงานและตกงานรองรับตลาดงานและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี  

4.2. ลงทุนในระบบบริหารจัดการน้ำครบวงจรเพื่อเป็นมหาอำนาจผลิตอาหารปลอดภัย  

4.3. ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาในด้านอาหาร การแพทย์ พลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญทันทีเพื่อไทยแข่งขันได้ 

4.4. ส่งเสริมมาตรการหารายได้เข้ารัฐ ที่ไม่ใช่เพียงภาษี การลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มระบบราชการ การคลัง และระบบภาษีทั้งหมด เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ลดขนาดราชการ และป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น รวมถึงการใช้ระบบบล็อกเชน การแก้ไขระบบศุลกากร ปรับปรุงระบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  

4.5. ส่งเสริมและพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทย เพื่อสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้  

4.6. จัดระบบงบประมาณใหม่ โดยต้องเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ทบทวนงบประมาณที่ไม่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดการพัฒนา  

 

11 ม.ค. 2564

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น