วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564

"พัฒน์พงศ์" : ผลกระทบการระบาดของโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19) ระลอกใหม่

โดย ดร.จรัล อัมพรกลิ่นแก้ว

“ตั้งแต่มีโควิดรอบนี้ กิจการในถนนพัฒน์พงศ์อยู่กันไม่ไหว ขนของย้ายออกไปกันเกินครึ่งซอยแล้ว”

ชายเจ้าของกิจการบาร์แห่งหนึ่งในถนนพัฒน์พงศ์ ซอย 1 ถนนสายสั้นๆ ที่เชื่อมถนนสีลมและถนนสุรวงศ์แต่เป็นถนนที่มีมูลค่าที่ดินสูงติดลำดับต้นๆของประเทศไทย  พี่ผู้ชายเจ้าของกิจการบาร์และภรรยาต้องผันตัวเองมาเปิดแผงข้าวแกงเล็กๆ ภายหลังเกิดวิกฤติโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019  “กินอะไรดีครับ? สั่งได้เลยครับ มีกะเพราหมู เนื้อ ไก่ ไข่ดาวไข่เจียวร้อนๆ ง่ายๆ เลยนะครับ” เสียงเรียกเชิญชวนให้แวะทานอาหารกลางวันของพ่อค้าวัยกลางคนอารมณ์ดี

ผู้เขียนตัดสินใจเลือกเมนูทานง่าย นั่งทานข้าวไป พลางมองเข้าไปในบาร์ที่เปิดประตูระบายอากาศ เห็นเสาแสตนเลสเงาหม่น เวทีที่ว่างร้างเปล่า เก้าอี้ถูกยกขึ้นไปวางพาดไว้บนเวที ลังเบียร์ถูกวางกองรวมๆไว้มุมร้านพร้อมกับพรมพื้นสีเขียวที่ถูกซักตากทิ้งไว้ แต่ไม่มีพนักงานเหลืออยู่เลยสักคน

“ร้านเราถูกปิดตามคำสั่งคณะรัฐมนตรี ที่ให้ปิดสถานบริการ สถานบันเทิงตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว เพื่อป้องกันการระบาดโควิด แล้วลูกค้าเราซอยนี้หลักๆ เป็นต่างชาติ เป็นญี่ปุ่นมากที่สุด และญี่ปุ่นเองก็โควิดระบาดหนักมาก พอลูกค้าต่างชาติญี่ปุ่นมาไม่ได้ เราก็ไม่มีเงินรายได้ ไม่มีเงินจะจ่ายลูกน้อง  ลูกน้องก็ต้องกลับบ้านไปหางานอื่นทำกันใหม่”

เจ้าของบาร์ผู้ชายพร้อมภรรยา มานั่งคุยกับเรา เจ้าของบาร์เล่าว่า เขามาเช่าที่ตรงนี้ที่ทำบาร์ มานานหลายปี แม้ว่าลูกค้าจะค่อยๆ เงียบลงมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังกัดฟันพออยู่ได้ แต่พอมีโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระบาดจนถูกประกาศให้ปิดสถานบริการตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว จนถึงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เดือนธันวาคม ก็ตั้งหลักว่าจะเปิดกลับมาให้บริการนักท่องเที่ยวอีก แต่ยังไม่ทันเปิดร้าน โรคไวรัสโคโรนาก็ระบาดซ้ำตอนปลายปี จึงทำให้แผนที่จะเปิดให้บริการเป็นอันยุติไปรอบที่สอง

“ปิดมาตั้งแต่มีนาคมที่แล้ว ตอนปลายปีที่ผ่านมาก็เปิดนะ แต่พอเจอระบาดสิ้นปี ปิดเลย ปิดยาว” 

เจ้าของบาร์เล่าว่า คนที่มาทำธุรกิจบาร์ ไนต์คลับในซอยนี้แทบจะทั้งหมดไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน เช่าจากเจ้าของโดยตรงบ้าง เซ้งธุรกิจมาบ้าง หรือเช่าช่วงต่อกันมาบ้าง จึงมีภาระค่าเช่าในราคาสูง 

“เช่าเกือบทั้งหมดแหละ ค่าเช่าเดือนหนึ่ง ห้องตรงข้าม น่าจะห้องละ 1 แสนบาท โควิดหยุด แต่ค่าเช่าไม่ได้หยุดนะครับ อย่างตรงนั้น 3 ห้องติดกัน 3 แสนแน่ๆต่อเดือน ตั้งแต่มีนาคมที่แล้วนับไปสิกี่ล้าน” 

เมื่อถามว่าเจ้าของตึกเขาได้ช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เช่น การลดค่าเช่า เป็นต้น เจ้าของบาร์ตอบว่า 

“มันแล้วแต่ บางเจ้าเขาไม่ลด บางเจ้าก็ลดให้ อย่างตรงนั้นเจ้าของที่ดิน เขาลดให้ 40 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องหามาจ่ายเดือนละเกือบ 2 แสน  ขนาดลดแล้วก็อยู่กันไม่ได้” 

แม้จะได้ลดค่าเช่าลงส่วนหนึ่ง แต่เมื่อไม่สามารถเปิดร้าน ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางมาได้ ผู้ประกอบการส่วนมากก็ไม่มีเงินทุนมากเพียงพอที่จะประคองธุรกิจเพื่อรอวันที่กลับมาเปิดกิจการได้  “ย้าย ย้ายออกกันเยอะมาก  ปลายซอยทางโน้นเพิ่งขนของออก อีกร้านหนึ่งขายกระเป๋า พวกกระเป๋าแบรนด์เนม มาขนของออกหมด โน้นสุดซอยตรงสุรวงศ์โน้น แปะป้ายให้เช่าติดยาวทั้งตึกแล้ว อยู่ไม่ไหว” 

เมื่อถามว่า แม้จะไม่สามารถเปิดกิจการแต่ยังมีภาระอะไรบ้าง เจ้าของบาร์บอกว่า บาร์ของตนหลักๆ คือค่าเช่า แต่โชคดีที่ช่วงที่ปิดโควิด เจ้าของตึกลดค่าเช่าให้ “เจ้าของตึก ตอนแรกเขาก็ลดค่าเช่าให้ ตอนนี้ก็ไม่เก็บค่าเช่า เพราะเค้าก็รู้ว่าเราไม่มีรายได้ แต่เราก็อยู่เฉยไม่ได้ไง ไม่มีค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟต้องมีอยู่ ภาระก็ยังมี ลูกก็ต้องเรียน แล้วตึกพวกนี้หากปิดไว้จะโทรมเร็วฝุ่นจับ เราก็ต้องเปิดประตูไว้แบบที่เห็น คอยเก็บกวาดดูน้ำรั่วไหม ไฟสว่างไหม คอยกวาดถู” 

แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือภาคธุรกิจจำนวนมาก แต่ด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ละเอียดบางอย่าง ก็ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือดังกล่าว ทั้งในส่วนกิจการและบุคคล

“ธุรกิจผมไม่ได้อะไรเลย เพราะเราทำธุรกิจแบบนี้คือ เจ้าของกิจการแต่ไม่ใช่เจ้าของที่ไง เวลาธนาคารประเมิน ก็ดูว่าเรามีสินทรัพย์อะไร เรามีแต่คลับ บาร์  และเราก็เช่าเขา แต่ที่ดินตึกอาคารไม่ใช่ของเรา เราจะเอาอะไรไปเป็นหลักประกันให้เขา” เจ้าของบาร์เล่าต่อ “ส่วนตัวเอง พอจะไปลงทะเบียนอะไรก็ไม่ได้ไม่ทัน แอปพลิเคชันอะไรก็ไม่ทันเขา เราก็ไม่ใช่คนยากจนไม่มีบัตร  อ้าว...ตกลงไม่ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง เลยมานั่งขายข้าวแกงได้ค่าน้ำค่าไฟก็ยังดี” เจ้าของบาร์บ่น 

ทุกวันนี้ เจ้าของกิจการบาร์สองคนสามีภรรยา มาช่วยกันเปิดร้านข้าวแกงเล็กๆ จานละ 40 บาท หารายได้เป็นค่าน้ำค่าไฟ ด้วยความหวังว่าปลายปีนี้ เมื่อสถานการณ์โรคระบาดบรรเทาเบาบางลง  ก็มีความหวังจะเปิดกิจการกลับมาคึกคักอีกครั้ง “โควิดมารอบนี้ ผมว่าคงเปิดร้านได้อีกทีปลายปีนี้ไม่ก็ต้นปีหน้า ถ้ามีวัคซีนโควิดเร็วๆนะ แม้ว่าจะเปิดได้”

เมื่อถามว่า ถ้าเปิดกิจการคราวหน้า ร้านค้าต่างๆ จะกลับมาคึกคักหรือรูปแบบจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์แค่ไหนอย่างไร เจ้าของบาร์บอกเราว่าเขาเองก็คาดเดาไม่ถูกแล้ว เค้าแอบภาวนาให้ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ลึกๆ ใจเขาก็ยอมรับว่าทุกอย่างในอนาคตอาจไม่เหมือนเดิม แต่เขาพร้อมสู้จนถึงที่สุดอีกครั้ง 

“ผมสู้นะ ผมรู้แค่ว่าผมต้องเหนื่อย แต่ที่ผมไม่รู้จริงๆ ก็คือ ร้านรวงแถวนี้ จะเปลี่ยนหน้าตาเปลี่ยนกันไปขนาดไหน แต่จะเปลี่ยนยังไงผมก็ยังสู้ แม้รู้ว่าหลังโควิดรอบนี้ พัฒน์พงศ์อาจจะไม่เหมือนเดิม!”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น