วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2564

"จาตุรนต์" ลงพื้นที่สวนหลวง-ประเวศ ฟังเสียงประชาชนเดือดร้อนเพราะโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผมมีโอกาสได้ไปพูดคุยเรื่องงานกับพรรคพวกแถวสวนหลวง เขตประเวศ จึงถือโอกาสไปเยี่ยมชุมชนเล็กๆ ที่อยู่บริเวณนั้น ชุมชนเล็กที่มีเพียง 26 หลังคาเรือน มีคนอาศัยอยู่ประมาณ 150 คน  ซึ่งพวกเขาคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการของรัฐที่ออกมาโดยตรง ขณะเดียวกันในกรุงเทพมหานครมีชุมชนเปราะบางเช่นเดียวกันนี้อีกอย่างน้อย 1,500 แห่งและมีคนอาศัยอยู่อีกกว่า 1.2 ล้านคน



คนในชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง มีทั้งเป็นแม่บ้าน พนักงานทำความสะอาด รปภ. เมื่อบริษัทต้องหยุดกิจการ พวกเขาจะเป็นคนแรกๆ ที่ถูกให้ออกก่อนพนักงานคนอื่น เพราะไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ซึ่งการระบาดรอบใหม่นี้พวกเขาต้องหยุดงานและขาดรายได้ภายในสัปดาห์แรกที่มีการระบาดทันที 

ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา พวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรงและลำบากเดือดร้อนกันอย่างมาก และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ นอกจากรับผลกระทบจากปัญหาที่พวกเขาไม่ได้ก่อ เรื่องราวของพวกเขาไม่อยู่ในรายงานข่าวประจำวัน คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้ว่าพวกเขาอยู่กินกันอย่างไร และต้องใช้ชีวิตอย่างไรในยามนี้

ที่บ้านหลังแรก

ได้พูดคุยกับเด็กผู้หญิงที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยม ซึ่งอาศัยอยู่กับคุณยายและลูกสาวของคุณยายที่กำลังตั้งครรภ์ เด็กๆ สะท้อนปัญหาการปิดโรงเรียนได้อย่างชัดเจน โดยชี้ให้เห็นว่า การเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์ ทำให้ไม่สามารถเรียนและทำความเข้าใจบทเรียนได้อย่างเต็มที่ และโรงเรียนที่มีห้องเรียนกว้างขวางและในห้องก็มีเด็กเพียงแค่ 30 คน น่าจะพอทำให้นั่งห่างกันได้

บ้านหลังที่สอง 

มีเด็กทั้งหมด 8 คน ผู้ใหญ่ 5 คน และมีผู้พิการอยู่ด้วย เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่านโยบายรัฐที่ให้เด็กหยุดเรียนอยู่บ้านเพื่อให้เด็กห่างกัน แต่ตามชุมชนแออัดเหล่านี้มีครอบครัวลักษณะเช่นนี้ที่มีเด็กอยู่ถึง 8 คน เมื่อพวกเขาหยุดอยู่บ้านจึงอยู่กันอย่างแออัด 

ผู้ปกครองในครอบครัวนี้แสดงความเป็นห่วงเด็กๆ ในเรื่องที่ต้องหยุดเรียนและการเรียนออนไลน์ ซึ่งมีปัญหาและอาจทำให้เด็กๆ เรียนไม่รู้เรื่อง เนื่องจากไม่ได้เรียนกับครูโดยตรง นอกจากนี้การระบาดของโควิดครั้งนี้ ทำให้ผู้ใหญ่ 2 คนในบ้านต้องหยุดงาน เนื่องจากที่ทำงานต้องปิดตามมาตรการของรัฐ ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่ไม่มีความชัดเจน มีเพียงรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการตัดเย็บผ้าขาวม้าที่รับมาจากโครงการของศูนย์ดูแลคนพิการ แต่ดูเหมือนจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญในการจุนเจือสมาชิกในบ้านทั้ง 13 ชีวิตขณะนี้ รวมทั้งต้องจัดสรรสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาพยาบาลน้องที่เป็นผู้พิการในบ้านด้วย 

.

บ้านหลังที่สาม 

เป็นครอบครัวของครูที่สอนในโรงเรียนเอกชน ซึ่งหยุดงานและได้เงินเดือนเพียงบางส่วน ซึ่งยังไม่มีคำตอบจากที่ทำงานว่าจะจ่ายเงินเดือนอย่างไร จนทำให้เกิดความกังวลอย่างมาก เพราะอาจทำให้ทั้งครอบครัวขาดรายได้ไปในที่สุด 

นี่เป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศนี้ 

แม้วันนี้รัฐบาลจะเริ่มออกมาพูดถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบบ้างแล้ว แต่ก็เป็นการเริ่มพูดหลังจากประชาชนได้รับผลกระทบกันมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะผลกระทบเกิดขึ้นในทันทีที่รัฐประกาศมาตรการบังคับต่างๆ โดยเฉพาะคนยากคนจนและผู้ที่ต้องหยุดงานจากมาตรการของรัฐผโดยตรงซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมาโดยตลอด ดังนั้นจึงล่าช้าไม่ได้ ยิ่งช้าผู้ได้รับผลกระทบทุกคนจะยิ่งยากลำบาก

ที่สำคัญคือการเยียวยาที่จะเกิดขึ้นนั้น จะมากเพียงพอและครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน มีใครต้องตกหล่นไม่ได้รับการเยียวยาหรือไม่และเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก รัฐบาลมีบทเรียนมาแล้วจากการระบาดครั้งที่แล้ว จึงไม่ควรปล่อยให้เกิดปัญหาและผิดพลาดซ้ำซากอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายฮิม-อาจอง บิณศิรวานิช โพสต์ข้อความ ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ว่า "ผมได้มีโอกาสพา ท่านจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่มาพบพี่น้องชาว #สวนหลวง  #ประเวศ เพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ ครูเอกชนท่านนี้ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ #COVID เช่นเดียวกันกับพี่น้องของเราที่ประกอบอีกหลายๆอาชีพครับ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น