วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

"ทวี" แนะรัฐแจงปมดีล "ฟิลลิป มอร์ริส" เผยเตรียมจ่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ก่อนหน้านี้ มีการรายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เผยว่า ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระลับมาก (ริมแดง) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างฟิลิปปินส์กับไทยในองค์การการค้าโลก (WTO) กรณีที่ไทยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส จากการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่ โดยกระทรวงการคลังได้ขอความเห็นชอบและขออนุมัติลงนามร่าง Uberstanding between the Philippines and Thailand on agreed procedures towords a comprehensive settlement of the dispute in Thailand-customs and fiscal measures on cigarettes from the Philippines โดยสาระสำคัญคือ ฟิลิปปินส์จะไม่ขอใช้สิทธิ์ตอบโต้ทางการค้ากับไทยเพิ่มเติมอีก และการสืบสวนสอบสวนใดๆจะอยู่ภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งไทยตกลงว่าจะทำตามข้อตกลงดังกล่าวนี้ด้วย

ท่ามกลาง กรณีที่มีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นดังกล่าว มีการตีความกันว่าจะมีการยุติคดีที่หน่วยงานรัฐไทยฟ้อง บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ทั้งหมด ทั้งๆ ที่ไทยเป็นฝ่ายชนะ และคดีอยู่ในกระบวนการของศาล ล่าสุด สื่อมวลชนหลายสำนักจึงติดตามตรวจสอบเรื่องนี้กับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเคยทำคดี ฟิลลิป มอร์ริส 

พ.ต.อ.ทวี ให้สัมภาษณ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยระบุตอนหนึ่งว่า นิติบุคคล ฟิลลิป มอร์ริส เป็นบริษัทของอเมริกา อยู่ที่ มลรัฐเดลลาแวร์ สหรัฐอเมริกา ที่ใช้คำว่า “นิติบุคคล” ไม่ใช่ “บริษัท” เพราะได้เข้ามาจดทะเบียนสาขาในประเทศไทย กับกระทรวงพาณิชย์ โดยอาศัยสนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างประเทศไทย กับ สหรัฐอเมริกา พ.ศ.2511 ตามมาตรา 11 ประกอบมาตรา 10 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่มีเอกสิทธิ์ทำให้ผู้ถือหุ้นต่างด้าวสัญชาติอเมริกาถือหุ้น 100% ซึ่งแตกต่างจากการประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าวทั่วไปที่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นระหว่างคนไทยกับคนต่างด้าว 51 ต่อ 49

“ช่วงที่ผมเป็นรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ปี 49 พบว่าทำไมการนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อเดียวกัน อย่าง มาร์ลโบโร และแอลเอ็ม ซึ่งบริษัทนี้นำเข้ามาร์ลโบโรในราคาซองละ 7 บาท 76 สตางค์ แอลเอ็มซองละ 5 บาท 88 สตางค์ ขณะที่บริษัทคิงเพาเวอร์ นำเข้ามาร์ลโบโร 27 บาท ต่างกันถึง 20 บาท แอลเอ็มต่างกัน 16 บาท”  

“ขณะนั้นการนำเข้าสินค้า เก็บภาษีนำเข้า CIF คือ ต้นทุน ประกัน และค่าบรรทุกสินค้า แต่ว่าถ้านำเข้าในราคาต่ำ จะไปเสียภาษีสรรพสามิตแทน คิดง่ายๆ นำเข้า 1 บาท จะมีภาษี 4 บาท ยิ่งนำเข้าราคาต่ำ ก็ไปเสียภาษีสรรพสามิตดีกว่า เสีย 30% แทนที่จะไปเสีย 400% ผมได้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ และพบว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ ตั้งแต่ปี 49 จนถึงปัจจุบัน” พ.ต.อ.ทวี ย้อนถึงความไม่ชอบมาพากลในการเลี่ยงภาษีนำเข้า ซึ่งตรวจสอบพบเมื่อปี 49  

พ.ต.อ.ทวี อธิบายต่อว่า ในปี 49 ฟิลิป มอร์ริส นำเข้าบุหรี่จากฟิลิปปินส์ ซึ่งตรวจพบว่าบริษัทนี้ก็นำเข้าบุหรี่มานานแล้ว ตั้งแต่ปี 41 เดิมนำเข้าจากมาเลเซีย ต่อมาก็นำเข้าจากอินโดนิเซีย และปี 49 นำเข้าจากฟิลิปปินส์ ดีเอสไอจึงมีการสืบสวน โดยไปที่ฟิลิปปินส์   อินโดนิเซีย และมาเลเซีย เพื่อดูว่าต้นทุนบุหรี่จริงๆ ราคาเท่าไหร่กันแน่ เรื่องนี้ผ่านกระบวนการมาจนกระทั่งมีการดำเนินคดีทางอาญา และพบว่าเราไม่สามารถพิสูจน์ราคาต้นทุนจริงๆ ได้ เนื่องจากบริษัทแม่ถือหุ้น 100% ไม่มีการให้ข้อมูล  และในช่วงที่เป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แยกเป็นสำนวนการสอบสวนเป็นช่วงเวลา และได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีส่งพนักงานอัยการ ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องคดีต่อศาลอาญา จำนวน 2 คดี ข้อหาสำแดงเท็จ คือ คดีที่นำเข้าจากประเทศอินโดนีเชียช่วงต้นปี 2545 ถึงกลางปี 2546 กับคดีที่นำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์ ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2546 ถึงเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งทั้ง 2 คดีศาลอาญาได้ตัดสินแล้วว่าสำแดงเท็จ คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ 

สถานะของคดีขณะนี้จะมีอยู่ 3 สถานะ คือ 


1.เป็นเรื่องของกรมศุลกากรที่บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ฟ้องกับ WTO น่าจะเกี่ยวข้องกับข้อตกลงที่รัฐบาลกำลังพิจารณา ซึ่งไม่มีผลกับกระบวนการยุติธรรมและศาลไทย ที่จะต้องดำเนินการภายใต้กฏหมายภายในประเทศเท่านั้น


2.คดีที่ตนทำ เราทำถึงแค่ปี 49 แต่การนำบุหรี่เข้าหลังจากปี 49 – ปี 65 ก็ยังนำเข้าบุหรี่อยู่ในราคาเดิมตลอด ไม่ว่าค่าเงินบาทจะต่างอย่างไร ค่าบรรทุกสินค้า ค่าขนส่งหรือ ค่าเรือบรรทุกสินค้าจะสูงเท่าไหร่ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทราบว่าอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรียกว่าอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวน (ที่ยังมีการนำเข้าลักษณะเดิม)มีคดีที่ศาลตัดสินไปแล้ว เป็นแนวทางที่จะนำมาใช้ได้


และ 3.คดีที่ศาลอาญาตัดสินไปแล้ว 2 คดี ที่เห็นว่าเป็นเรื่องชั้นศาลแล้ว และศาลไทยเป็นอิสระภายใต้อำนาจอธิปไตย ข้อตกลงไม่สามารถก้าวล่วงได้

“ตอนนี้ประเด็นในความเข้าใจของผมคือคดีที่ศาลตัดสินแล้ว เนื่องจากเป็นคดีอาญา เรามีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 การจะถอนฟ้องคดีอาญา ถ้าศาลชั้นต้นตัดสินไปแล้ว ไม่สามารถถอนฟ้องได้ คือ คดีในส่วนที่นำเข้าบุหรี่จากอินโดนิเซียกับของฟิลิปปินส์ จนถึงปี 49 ผมคิดว่าน่าจะถอนฟ้องไม่ได้ ทราบว่าศาลอุทธรณ์ก็จะลงมา (อ่านคำพิพากษา) ถ้าตัดสินเหมือนศาลชั้นต้น (หน่วยงานรัฐไทืยชนะ) ก็จบแค่ 2 ศาล” เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุ 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า เรื่องที่สำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินคดี ทราบนำเข้าช่วงปี 2550 ถึง ปี 2565 มีค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะถ้าไม่แก้ พ.ร.บ.ศุลกากร ในยุค คสช. เพราะเดิม พ.ร.บ.ศุลกากร จะมีค่าปรับในการเลี่ยงภาษีนำเข้า 4 เท่า เอาราคาสินค้าบวกกับค่าอากรเป็นค่าปรับ ก็เป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท แต่ตอนหลังในยุค คสช.ปี 2560 ได้แก้กฎหมายศุลกากร และแก้กฏหมายสรรพสามิตให้ปรับได้เท่ากับอากรที่ขาดไป คือไม่เอาราคาต้นมาใช้ ตรงนี้ทำให้เสียค่าปรับน้อยลงอยู่แล้ว 

“ที่ผมเป็นห่วงคือ ต้องพิจารณาว่าการทำเรื่องนี้เป็น MOU หรือเป็นสัญญา อย่าลืมว่าเรามีรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองไว้คือ มาตรา 178 การทำสัญญากับรัฐต่างประเทศ หรือการทำสัญญาอื่นที่มีผลต่อเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง จะต้องห้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณา จริงๆ น่าจะมีการขุดคุ้ยเรื่องนี้” 

พ.ต.อ.ทวี ย้งย้อนเส้นทางคดีให้ฟังว่า ในคดีการนำเข้าบุหรี่ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและหลากหลายคดีมาก นิติบุคคลฟิลลิป มอร์ริส เคยฟ้องกรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร คือ

เคยฟ้องกรมสรรพสามิตแ ละสู้ไปถึงศาลฎีกา เพื่อให้เพิกถอนประกาศของกรมสรรพสามิตต่างๆ ศาลฎีกาพิพากษาในปี 58 ให้กรมสรรพาสามิตชนะ นิติบุคคลแห่งนี้ก็เคยฟ้องกรมสรรพากร เรื่องการออกประกาศภาษีมูลค่าเพิ่ม ศาลฎีกาก็พิพากษาเมื่อปี 59 ให้กรมสรรพากรชนะ ขณะเดียวกัน นิติบุคคลแห่งนี้เคยเคยฟ้องกรมศุลกากร และศาลฎีกาตัดสินกรมศุลกากรชนะเช่นกันในปี 2559 จนมาถึงปี 60 ในยุคของ สนช. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการแก้กฎหมายสรรพสามิต และกฎหมายศุลกากร ที่สงสัยว่าแก้เพื่อใคร?  แทนที่จะเก็บภาษีแบบ CIF แบบเดิม ก็มาเปิดช่องเรื่องเก็บภาษีขายปลีกถ้าขายซองละ 60 บาทลงมาเสียงภาษี 20% และราคาซองละ 60 บาทขึ้นไปเสียภาษี 40% แต่รากเหง้าการสำแดงราคาต่ำไม่แก้ไข ทำให้นิติบุคคลลดราคาบุหรี่ขายปลีก จากที่เคยขาย 72 บาท มาขายในราคา 60 บาท ส่งผลกระทบบุหรี่ไทยจากโรงงานยาสูบขายไม่ออก ส่งผลไปยังเกษตรกรทำไร่ยาสูบเดือดีร้อนตามมา การลดภาษีนำเข้าเป็น 0 ทำให้บุหรี่สำแดงราคาต่ำนำเข้าลดราคามาแข่งกับบุหรี่ไทย จนบุหรี่ไทยแย่ไปเลย ขายไม่ออก 

“เรื่องนี้คิดว่ามีความซับซ้อน ปวงชนชาวไทยเดือดร้อน และจะหาข้อมูลอาจจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจกัน พบว่าความเป็นเหตุเป็นผลหลายๆ อย่างมันไม่เพียงพอ และผลประโยชน์ค่อนข้างมหาศาล ที่สำคัญมีผลกระทบต่อเกษตรกรเราด้วย เพราะเมืองนอกใช้ใบยาสูบจากเมืองไทย แต่ต้นทุนถูกกว่าเมืองไทยมาก เพราะว่าต้องการส่วนแบ่งทางการตลาดในเมืองไทย เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและเชื่อว่าจะมีพรรคการเมืองหลายพรรคเอาเรื่องนี้ไปอภิปราย เนื่องจากต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมของไทย เราจะขึ้นกับกฎหมายในประเทศ ไม่ขึ้นกับข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังนั้นสิ่งนี้มันผ่านกระบวนการยุติธรรมของไทยมาค่อนข้างเยอะ จะเอากฎหมายเมืองนอกมาบังคับไม่ได้  ถึงผู้บังคับใช้กฎหมายจะเอามาใช้มาอ้างได้ แต่ถ้าดำเนินคดีไป เราก็มี ยี่ต๊อก (แนวการกำหนดโทษในแต่ละฐานความผิด) ตรงนี้อยู่” 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากฝากทางคณะรัฐมนตรีด้วยว่า เราต้องคิดถึงประโยชน์ส่วนร่วม คือการเป็นรัฐบาลโดยเฉพาะคณะรัฐมนตรีต้องแสดงความซื่อสัตย์สุจริตให้เป็นที่ประจักษ์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กฎหมายพิจารณาแล้ว ต้องทำแบบตรงไปตรงมาให้ความจริงปรากฏ อีกทั้งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาหลายยุคหลายสมัยด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น