วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

ติวเตอร์ดาหน้าขึ้นค่าเรียน รับภาษีโรงเรียนกวดวิชา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ระบุว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งรัดดำเนินการ ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างรอกฎหมายดังกล่าวประกาศบังคับใช้ ซึ่งจะจัดเก็บภาษีเงินได้จากโรงเรียนกวดวิชา โดยขึ้นอยู่กับสถานประกอบการว่าจดทะเบียนจัดตั้งในรูปแบบใด หากจัดตั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดาจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตราก้าวหน้า 5-35% แต่ถ้าจดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลจะเสียภาษี 20% ของกำไรสุทธิรวมแล้วมีโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนกับ สช.และเข้าข่ายต้องเสียภาษีทั้งหมด 2,379 โรงเรียน แบ่งเป็นเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) 549 แห่ง และส่วนภูมิภาค 1,830 แห่ง ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่โรงเรียนกวดวิชาอาจผลักภาระไปยังผู้บริโภค เพราะภาระภาษีที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อรายได้ อย่างไรก็ตาม หากจะขึ้นค่าเรียนต้องขออนุญาตจาก สช.ก่อน ไม่สามารถขึ้นค่าเล่าเรียนโดยพลการได้ และต้องชี้แจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ พร้อมระบุเหตุผลในการปรับเพิ่มราคา แต่มีระเบียบปฏิบัติกำหนดไว้ว่าโรงเรียนกวดวิชาจะมีกำไรจากการประกอบธุรกิจได้ไม่เกิน 20% เท่ากับเป็นการควบคุมค่าเรียนอีกทางหนึ่ง

นายอนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชาเปิดเผยว่า พร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล แต่ต้องการให้กรมสรรพากรให้เวลาโรงเรียนกวดวิชาในการปรับตัว เพื่อทำทุกอย่างเข้าสู่ระบบในปีนี้ จากนั้นค่อยเริ่มจัดเก็บภาษีในปีหน้า เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่จัดตั้งขึ้นในรูปบุคคลธรรมดา และเมื่อดูจากรายได้ของโรงเรียนกวดวิชาแล้ว คาดว่าส่วนใหญ่ต้องเสียภาษีรายได้ที่ 30% โรงเรียนกวดวิชานอกระบบเหล่านี้จึงน่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการ โดยยื่นขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีต้นทุนสูงทำให้ต้องปรับขึ้นค่าเล่าเรียนกระทบต่อผู้บริโภค

"นอกจากนี้การจัดเก็บภาษี ทำให้โรงเรียนกวดวิชาต้องมีค่าดำเนินการเกี่ยวกับบัญชี มีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาอีก 2% สิ่งเหล่านี้จะถูกนำไปคำนวณเป็นค่าเรียนที่เพิ่มขึ้น คาดว่าโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนรูปแบบบุคคลธรรมดา จะปรับค่าเรียนขึ้นประมาณ 8% ส่วนโรงเรียนกวดวิชาที่เป็นนิติบุคคล มีฐานการจัดเก็บภาษีน้อยกว่า น่าจะปรับค่าเรียนเพิ่ม 3% สำหรับภาระภาษีที่เกิดขึ้น โรงเรียนกวดวิชาจะแบ่งภาระกับผู้บริโภคคนละครึ่ง คิดว่าไม่มีใครกล้าผลักภาระไปมากกว่านี้ เพราะถ้าผลักภาระมากอาจทำให้ยอดผู้เรียนลดลง"

นายอนุสรณ์กล่าวว่า มีโรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งสอบถามตนว่า ต้องปรับค่าเรียนเลยหรือไม่ ซึ่งได้แนะนำว่ายังไม่ควรปรับ เพราะยังไม่ทราบว่าภาษีจะจัดเก็บในปีนี้เลยหรือไม่ และถึงแม้สรรพากรประกาศว่าจะจัดเก็บภาษีในปีนี้ โรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีระบบบัญชีที่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงอยากให้สรรพากรให้เวลาบ้าง

ขณะที่นายธเนศ เอื้ออภิธร ผู้อำนวยการ-ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาเอ็นคอนเส็ปท์ กล่าวว่า โรงเรียนกวดวิชาอยากได้ความชัดเจนว่าจะมีการจัดเก็บภาษีกลางปีนี้หรือปีหน้า เพื่อจะได้เตรียมตัวทัน เนื่องจากตามปกติจะมีการออกระเบียบการเรียนล่วงหน้าหลายเทอม จึงไม่อยากเปลี่ยนแปลงราคากะทันหัน ประกอบกับเด็กนักเรียนบางส่วนได้ลงทะเบียนเรียนล่วงหน้าไปแล้ว

"ในระยะสั้นเรายังไม่มีนโยบายปรับค่าเล่าเรียนและยังไม่ได้คิดว่าจะปรับมากขึ้นกว่าเดิมเท่าไร ต้องรอกฎหมายออกมาชัดเจนก่อน และดูว่าสรุปแล้วอัตราเป็นอย่างไร มีการเก็บแวต (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ด้วยหรือไม่ บางโรงเรียนอาจไม่เพิ่มค่าเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนเล็ก ๆ ที่มีฐานภาษีต่ำ อย่างไรก็ตาม หากเพิ่มค่าเรียนขึ้น 5-10% ถือเป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับผู้บริโภค ดังนั้นผมคิดว่าถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ โรงเรียนกวดวิชาจะคงราคาเดิมไว้ คือ ถ้าเจอเก็บภาษี 5% ทางโรงเรียนยังรับภาระไว้ได้ แต่ถ้าเกินจากนี้คงต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะปรับขึ้นค่าเล่าเรียนหรือไม่"

นอกจากนี้ ยังมองว่าด้วยความที่โรงเรียนกวดวิชาไม่มีระบบบัญชีเหมือนธุรกิจอื่น ดังนั้น กรมสรรพากรน่าจะให้เวลาเตรียมพร้อม และจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการทำระบบบัญชี เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด หรือทำผิดกฎหมายโดยไม่ตั้งใจ ไปสู่การโดนจ่ายค่าปรับย้อนหลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น