วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

"สืบทอดอำนาจ" ในร่างรัฐธรรมนูญ กระแสชาวเน็ตมาแรง แห่โพสต์วิจารณ์ยับ


การที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องการจัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปแห่งชาติไว้ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเรื่องขององค์ประกอบและที่มาของทั้ง 2 ส่วน กล่าวคือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กำหนดสัดส่วนไว้ 120 คน มีที่มาจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 60 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปอีก 30 คน ในขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ไม่เกิน 15 คน มาจากการแต่งตั้ง

ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติอำนาจหน้าที่ของทั้ง 2 ส่วนนี้ไว้ว่า มีหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้วยการให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี และมีบทบาทบูรณาการข้อเสนอด้านการปฏิรูปของ สปช.กับทุกภาคส่วน รวมถึงอำนาจหน้าที่ในการตรากฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูป นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดให้ ครม. ต้องชี้แจงเหตุผลต่อรัฐสภาและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หากไม่ดำเนินการตามคำแนะนำและในกรณีจำเป็น ให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศพิจารณาให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่าเห็นควรให้ดำเนินการหรือไม่

เมื่อพิจารณาถึงที่มาประกอบกับอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ จึงกลายเป็นข้อสังเกตถึงการปูทางสืบทอดอำนาจของ สปช. และ สนช. ตลอดจนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นที่เชื่อกันว่า 2 กลไกนี้มีเจตนาที่มุ่งตรวจสอบรัฐบาลชุดใหม่

ทางด้านพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ กราฟิก เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 และ 2558 ประเด็นที่มาของ ส.ว. โดยมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตร่วมแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก โดยบางความเห็นระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการสืบทอดอำนาจ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น