วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

คสช. ออกคำสั่ง มาตรา44 ประกาศใช้แทนกฎอัยการศึก


หัวหน้า คสช. ออกคำสั่ง อาศัยอำนาจตาม รธน.ชั่วคราว มาตรา44 ประกาศใช้แทนกฎอัยการศึกที่ยกเลิกไป เพื่อใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่รักษาความสงบของประเทศ

คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๓/๒๕๕๘

เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ

ตามที่บัดนี้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทั่วราชอาณาจักรแล้ว สมควรมีมาตรการในการดําเนินการกับการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลาย ความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ การฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ซึ่งคุกคามความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ

ดังนั้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําดังกล่าวให้ลดน้อย หรือ หมดสิ้นลงโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุจริตชนและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๒ ในคําสั่งน้ี “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือ เรืออากาศตรี ขึ้นไป ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคําสั่งนี้

“ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่า ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือ เรืออากาศตรี ลงมา ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ ตามคําสั่งนี้

ข้อ ๓ ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยดําเนินการป้องกันและปราบปราม การกระทําอันเป็นความผิด ดังต่อไปนี้ ให้เกิดผลโดยเร็ว

(๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

(๒) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา ๑๑๓ ถึงมาตรา ๑๑๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

(๓) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด สําหรับใช้เฉพาะ แต่ในการสงคราม

(๔) ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคําสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 

ข้อ ๔ ในการดําเนินการตามข้อ ๓ ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจ หน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือมาให้ถ้อยคําหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามข้อ ๓

(๒) จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดําเนินการต่อไป

(๓) ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในความผิด ตามข้อ ๓ ในการเข้าร่วมดังกล่าวให้ถือว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(๔) เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทําความผิดตามข้อ ๓ หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สิน ซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทําความผิดหรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดตามข้อ ๓ หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอา หมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้ เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

(๕) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบตาม (๔)

(๖) กระทําการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย ข้อ ๕ ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนให้ยุติลงโดยเร็ว หรือ ป้องกันมิให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย มีอํานาจออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้ แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือ ความสงบ เรียบร้อยของประชาชน ในการออกคําสั่งดังกล่าวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยจะกําหนดเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามคําสั่งด้วยก็ได้ เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะกําหนด หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยก็ได้

ข้อ ๖ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด ตามข้อ ๓ ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูล หรือให้ถ้อยคําอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการตามข้อ ๓ และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จ จะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่น ที่มิใช่สถานีตํารวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือ เรือนจํา และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้ 

เมื่อมีเหตุอันจะต้องดําเนินคดีต่อบุคคลที่กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งในฐานะเป็นผู้ต้องหา ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจดําเนินการต่อไป ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อ ๗ ให้ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน รักษาความสงบเรียบร้อยในการปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งนี้ตามที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยสั่งการ หรือมอบหมาย

ข้อ ๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งนี้ ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วย เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงาน ฝ่ายปกครอง หรือ ตํารวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ข้อ ๙ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามข้อ ๔ (๑) ข้อ ๕ หรือ ข้อ ๖ ต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกิน1ปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อ ๑๐ ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงาน รักษาความสงบเรียบร้อยในการปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ข้อ ๑๑ ในกรณีท่ีบุคคลใดถูกควบคุมตัวตามข้อ ๖ วรรคหนึ่ง เนื่องจากการกระทําความผิด ตามข้อ ๓ (๔) เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยอาจปล่อยตัวไป โดยมีหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้ เงื่อนไขในการปล่อยตัวตามวรรคหนึ่ง หมายถึง การกําหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัย ตามมาตรา ๓๙ (๒) ถึง (๕) แห่งประมวลกฎหมายอาญา การห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือ การสั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหน่ึงปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ข้อ ๑๒ ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ท่ีมีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือ ปรับไม่เกินหนึ่ง หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุม ที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งท่ีสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือ ไม่มีเงื่อนไขตามข้อ ๑๑ วรรคสอง ให้ถือว่า คดีเลิกกันตามมาตรา ๓๗ แห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๒๙  ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ข้อ ๑๓ การกระทําตามคําสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

ข้อ ๑๔ เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ที่กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย จากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

สั่ง ณ วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๘

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น