วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558

"เพื่อไทย" ออกแถลงการณ์ อีก 1 ปี 6 เดือน ประเทศเผชิญชะตากรรมแบบใด?


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ แถลงการณ์ เรื่อง การแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีเนื้อหาดังนี้

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย
เรื่อง การแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะฯ ได้ร่วมกันแถลงผลงานของรัฐบาล  เนื่องในโอกาสบริหารงานครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 นั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่าคำแถลงของนายกรัฐมนตรีในหลายส่วนสร้างความสับสน แบ่งแยกและสร้างความร้าวฉาน แตกแยกในสังคมไทย ยืนยันให้เห็นถึงความเป็นจริงตามแถลงการณ์ “ประมวลสถานการณ์ประเทศไทยปี 2558 ของพรรคเพื่อไทย” (22 ธันวาคม 2558) ที่กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาของประเทศไม่อาจประสบความสำเสร็จได้หากความเข้าใจ หรือการมองปัญหาไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือมองปัญหาต่างๆ อย่างมีอคติ

1. คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีที่ว่า “คนรายได้น้อยมาเลือก เพราะเขาต้องการเงินไปเลี้ยงครอบครัว.....” และ “คนมีรายได้ปานกลางไม่ออกมาเลือกตั้ง จะทำให้เสียงของคนที่อยากมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า.....”

คำพูดดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี แสดงถึงความขาดความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยและมีอคติต่อการเลือกตั้ง และดูจะไม่ต่างไปจากคำพูดในเวทีการชุมนุม shutdown ประเทศก่อนการรัฐประหาร คำพูดของผู้ปราศรัยบนเวทีที่อ้างว่า คนชนบทโง่ คนกรุงเทพฯ ฉลาดกว่า ดังนั้นเสียงต้องไม่เท่ากัน พรรคเพื่อไทยเห็นว่าในอดีตที่ผ่านมาได้พิสูจน์ในการเลือกตั้งหลายครั้งหลายหนแล้วว่า คนชนบท คนยากจน คนรากหญ้า มิได้มาเลือกตั้งเพราะเห็นแก่รายได้ หรืออามิสสินจ้าง ในทางตรงกันข้ามคนเหล่านั้นได้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพราะพอใจในนโยบายที่จับต้องได้ พึงพอใจในนโยบายที่ยกฐานะของคนเหล่านั้นให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในทางทฤษฎีประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน คนทุกคนเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เสมอเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนชั้นกลางและชนชั้นรากหญ้า ย่อมเท่าเทียมกัน คำพูดใดๆ ที่แบ่งชนชั้นจึงเป็นคำพูดที่สะท้อนแนวคิดเพื่อรักษาหน้าตาและผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลที่มีฐานะดีเท่านั้น การมองการเลือกตั้งว่าขึ้นอยู่กับการใช้เงินซื้อเสียง สะท้อนให้เห็นภาวะที่ไม่ใช่นักประชาธิปไตยของ ผู้นำซึ่งนิยมระบบแต่งตั้งมากกว่า ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่  จึงไม่ให้ความเคารพต่อการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจของประชาชน เช่น การให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง สรรหา การตั้งองค์กรพิเศษเพื่อควบคุมรัฐบาลอีกชั้น การยกอำนาจของประชาชนไปให้องค์กรตรวจสอบและองค์กรตุลาการที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับอำนาจประชาชน จนทำให้เสียสมดุลในระบบถ่วงดุลอำนาจ

2. นายกรัฐมนตรีได้เปรียบเปรยถึงโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคว่า “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคของกระทรวงสาธารณสุข เป็นโครงการสุดยอด แต่รายได้ไม่มี”

ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงความไม่เข้าใจ หรือมองปัญหาไม่ถูกต้อง เพราะโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยคนยากจนที่ไร้โอกาส กลุ่มคนเหล่านี้ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เป็นชาวเกษตรกรผู้ยากไร้ ปราศจากที่ทำกิน เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยไม่เพียงพอจะรองรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เผชิญกับโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของเขา เพียงแค่ให้มีหลักประกันในชีวิต ให้คนมีสุขภาพดี เป็นพลังของสังคม ค่าใช้จ่ายที่มีต้นทุนที่ 30 บาทดังกล่าวนี้ ล้วนมีที่มาจากภาษีอากรของประชาชน ซึ่งเป็นของเพื่อนร่วมชาติของเขา เงินจำนวนนี้มีไว้เพื่อเกื้อกูลคนไทยด้วยกัน ไม่ใช่เพื่อค้ากำไรแต่อย่างใด เลขาธิการองค์การสหประชาชาติยังเคยหยิบยกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ไปเป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศที่ด้อยพัฒนาและประเทศที่กำลังพัฒนา และล่าสุดประเทศสหรัฐอเมริกายังมีนโยบายรักษาพยาบาลในแบบเดียวกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เช่นเดียวกัน

3. คำกล่าวของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต่อหน้านายกรัฐมนตรีว่า “สิ่งที่ผมทำเมื่อ 10 ปีก่อน ไม่ใช่ประชานิยม และผมไม่สนใจว่าใครจะเรียกว่า ประชานิยม”

นับได้ว่าเป็นคำพูดที่ตรงไปตรงมา พิสูจน์ให้เห็นว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีกำลังใช้โครงการที่ท่านดูถูกและกล่าวหารัฐบาลที่แล้วว่ามีนโยบายเป็นประชานิยม คำว่า “ประชานิยม” จึงเป็นเพียงคำพูดที่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในอดีตเท่านั้น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน โครงการตำบลละห้าล้าน ที่รัฐบาลชุดนี้นำมาใช้  ไม่ใช่ “ประชานิยม” แต่เป็น “ประชารัฐ”  จึงดูไม่ต่างจากการที่มีความพยายามจะเปลี่ยนชื่อโครงการของพรรคเพื่อไทยที่ประสบความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเหตุผลในการยึดอำนาจปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ไว้ว่า เพื่อยุติความหวาดระแวง ฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย ความรู้รักสามัคคีและความเป็นธรรม สร้างบรรยากาศแห่งความสงบเรียบร้อยและปรองดอง เพื่อนำความสุขที่สูญหายไปนานกลับคืนสู่ประชาชน

พรรคเพื่อไทยเห็นว่าตลอดระยะเวลา 1 ปี 6 เดือนกว่าที่ผ่านมา ไม่ได้มีรูปธรรมอันใดที่สะท้อนความเป็นจริงในการเสริมสร้างและแก้ไขปัญหาที่กล่าวมา สิ่งที่ปรากฏกลับกลายเป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหา ถูกปรับทัศนคติ คนอีกกลุ่มหนึ่งสามารถใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มที่ นายกรัฐมนตรีกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับคนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจน ในขณะที่แสดงความปรองดองสมานฉันท์กับคนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างแนบแน่น

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศเสียเวลาเปล่าไปกับการใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขตจำกัด เสียเวลาไปกับวาทกรรมสวยหรูเรื่องความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ  คำพูดของนายกรัฐมนตรีที่แสดงออกต่อสาธารณะในโอกาสบริหารงานครบรอบปีที่ผ่านมา ไม่ได้สอดคล้องกับเจตจำนงที่กล่าวไว้ในการยึดอำนาจปกครองประเทศ และน่าจะวิเคราะห์ได้ไม่ยากว่า อีก 1 ปี 6 เดือนข้างหน้า ประเทศชาติจะต้องเผชิญกับชะตากรรมแบบใด

พรรคเพื่อไทย
25 ธันวาคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น