วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

“วัฒนา” ถามคนดีอยู่ไหน? ช่วยชาวสวนยางด้วย


นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่า การกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย เผยแพร่ ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

"แด่..พี่น้องชาวสวนยางภาคใต้"

ผมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวสวนยางด้วยความเห็นใจโดยเฉพาะพี่น้องชาวสวนยางภาคใต้ ผมคิดแล้วคิดอีกหลายครั้งในการให้ความเห็นครั้งนี้เพราะเกรงจะถูกมองว่าเป็นการฉวยโอกาสทางการเมือง จึงขอบอกในที่นี้เลยว่าพรรคเพื่อไทยมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่เอาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรมาเล่นการเมืองโดยเด็ดขาด ผมขอให้ข้อมูลเบื้องต้นว่าไทยมีพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งประเทศจำนวนประมาณ 22 ล้านไร่ แบ่งออกเป็นภาคเหนือ 1.2 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4.4 ล้านไร่ ภาคกลางและตะวันออก 2.6 ล้านไร่และภาคใต้ 13.9 ล้านไร่ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติประเมินว่ามีเกษตรกรผู้ปลูกยางทั้งประเทศจำนวน 1,568,997 ครัวเรือน ส่วนสำนักเศรษฐกิจการเกษตรประเมินต้นทุนการผลิตยางไทยอยู่ที่ 61.65 บาทต่อกิโลกรัม

ผมไม่โทษพี่น้องชาวสวนยางภาคใต้ที่ถูกนักการเมืองบางท่านนำไปอ้างว่าเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลนี้ แต่สิ่งที่ผมเสียดายคือระบอบประชาธิปไตยที่ถูกทำลายไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิของพวกท่าน โดยเฉพาะมาตรา 84 (8) ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติให้รัฐต้อง "คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตกรในการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด" กล่าวโดยสรุปก็คือถ้ารัฐธรรมนูญยังอยู่ รัฐบาลใดก็ตามต้องช่วยเหลือท่านโดยไม่มีเงื่อนไข แต่เมื่อรัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งไปแล้วก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามดุลพินิจของท่านผู้นำและรัฐบาล ซึ่งประกอบไปด้วยคนดีที่มีคุณธรรมอันสูงส่งที่อาสาเข้ามาปราบทุกข์เข็ญให้ประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาตามสมควร
ทิศทางราคายางในตลาดโลกยังอยู่ในขาลงต่อไป สาเหตุสำคัญเกิดจาก 1) เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวทำให้ความต้องการใช้ยางลดลงและไม่มีทางฟื้นตัวในเวลาอันใกล้ 2)ราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำทำให้ยางสังเคราะห์ราคาถูก 3) ลูกค้าสำคัญคือจีนปรับลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลงจาก 12-15% ต่อปีเหลือเพียง 6% ทำให้ปริมาณความต้องการลดลงกว่าครึ่ง และ 4) จีนได้ขยายพื้นที่การเพาะปลูกยางพาราในประเทศตนและขยายการลงทุนปลูกยางในประเทศกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตยางของโลกเพิ่มขึ้น ทางออกที่ดีที่สุดคือการจำกัดพื้นที่เพาะปลูกให้เหลือเท่าที่มีความต้องการ ส่วนที่เกินจากความต้องการต้องให้พี่น้องเกษตรกรเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นภายใต้การช่วยเหลือของรัฐบาล หากจะถามต่อว่าจะให้เกษตรกรไปทำอะไรผมขอให้รัฐบาลนี้ไปคิดเอาเอง ก็อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาแล้วนี่ครับช่วยแสดงปัญญาให้ดูหน่อย แต่ที่ผ่านมาผมยังไม่เคยได้ยินแนวทางในการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลนอกจากคำขู่ว่าจะใช้มาตรา 44 เท่านั้น ส่วนพวกผมได้คิดทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไว้นานแล้ว ซึ่งจะได้นำเสนอประชาชนในการหาเสียงเพื่อช่วยเหลือพี่น้องทันทีที่เราชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้รัฐบาลช่วยรับซื้อยางจากชาวสวนยางในราคากิโลกรัมละ 60 บาทเพราะต่ำกว่านี้พี่น้องจะขาดทุน แต่จะต้องเป็นการช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนดังที่กล่าวมาแล้ว ราคายางในวันนี้เหลือเพียงกิโลละ 20-25 บาทเท่านั้น การเสนอให้รัฐบาลรับซื้อที่กิโลกรัมละ 60 บาทเท่ากับซื้อสูงกว่าราคาตลาดถึง 3 เท่าหรือ 300% ทำให้ผมนึกถึงเมื่อคราวที่พรรคฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจพร้อมกับการขอให้ถอดถอนนายกยิ่งลักษณ์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 โดยในวันนั้นหัวหน้าและพลพรรค ปชป ทุกคนถล่มเรื่องราคาว่า "การประกาศรับซื้อของที่แพงกว่าราคาที่ซื้อขายปกติ คือนโยบายที่จงใจให้รัฐบาลเป็นผู้ซื้อและขายข้าวที่จะนำไปสู่การผูกขาดและเป็นการทำลายกลไกการซื้อขายปกติโดยสิ้นเชิง" และต่อมาในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นคนดีศรีแผ่นดินได้แถลงเปิดสำนวนขอให้ สนช ถอดถอนนายกยิ่งลักษณ์ในโครงการรับจำนำข้าวโดยมีสาเหตุสำคัญคือ "การตั้งราคารับจำนำสูงเกินกว่าราคาตลาด 50%" 

ผมเรียนยืนยันอีกครั้งว่า พวกผมเห็นด้วยที่รัฐบาลนี้จะต้องช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยางและพวกผมจะไม่นำเรื่องที่ท่านช่วยเหลือเกษตรกรไปเล่นการเมือง หรือหาเรื่องพวกท่านเหมือนอย่างที่พวกท่านทำกับนายกยิ่งลักษณ์โดยเด็ดขาด เพียงแต่อยากให้พวกท่านซึ่งเป็นคนดีศรีแผ่นดินทั้งหลายที่เคยเอาเป็นเอาตายกับการที่โครงการรับจำนำข้าวตั้งราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด 50% จนนายกยิ่งลักษณ์ถูก สนช ถอดถอน ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาและกำลังจะถูกรัฐบาลนี้เรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง ช่วยตอบนายกยิ่งลักษณ์ให้ผมหน่อยครับ

วัฒนา เมืองสุข
12 มกราคม 2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น