วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559

“ยรรยง” สอนรัฐซื้อยาง เปรียบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ช่วยชาวนา


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ขอเชียร์ให้รัฐบาลรีบรับซื้อยางพาราเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางก่อนราคาดิ่งตกเหว
มาตรการรับซื้อยางโดยตรงจากชาวสวนยางเป็นคำเฉลยคำตอบว่าการรับจำนำข้าว
เพื่อช่วยชาวนาเป็นการทำหน้าที่ของรัฐที่ถูกต้องเหมาะสมและจำเป็น ผมขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายเลิกอคติและหยุดบิดเบือนและประทับตราบาปว่า การช่วยเหลือเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำข้าวหรือรับซื้อยางเป็นประชานิยมที่เลวร้าย

ผมรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่ได้รับทราบข่าวว่ารัฐบาลได้ตัดสินใจให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางโดยจะเข้าไปรับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรงในราคาสูงกว่าราคาตลาดแต่ไม่เกินกิโลกรัมละ 45- 60 บาท จำนวนไม่เกิน 1 แสนตัน ซึ่งผมเข้าใจว่ารัฐบาลชุดนี้ได้ตระหนักแล้วว่าการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นภารกิจและหน้าที่พื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของรัฐ และรัฐบาลชุดนี้ได้ก้าวข้ามกับดักประชานิยมได้แล้ว

ที่ผมดีใจอีกอย่างคือ รัฐบาลเริ่มเข้าใจถูกต้องว่าสภาพของปัญหาที่แท้จริงคือเรื่องตลาดและราคายางที่ตกตํ่าอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ที่รัฐบาลออกมารับซื้อก็เพื่อปรับกลไกตลาดให้เกิดสมดุล เพราะผลผลิตทั้งโลกประมาณปีละ 12.8 ล้านตัน ในขณะที่มีการใช้ยางปีละประมาณ 12.2 ล้านตัน ผลผลิตในไทยปีละประมาณ 4.5 ล้านตัน ส่งออกปีละประมาณ 3.7 ล้านตัน จึงมีอุปทาน ส่วนเกิน (surplus supply) คือปริมาณผลผลิตมากกว่าการใช้อยู่ประมาณปีละ 7-9 แสนตัน ซึ่งเป็นตัวฉุดราคาสินค้าเกษตรชนิดนั้นให้ตกตํ่าทั้งหมด (Marginality Theory) ซึ่งมีผลเหมือนกันทั้งยางพาราและข้าว

การที่รัฐบาลเข้าไปรับซื้อยางหรือรับจำนำข้าวจากเกษตรกรเป็นการสร้างแรงกดดันให้พ่อค้าหรือผู้ใช้ไม่ให้กดราคาเกษตรกรเพราะรัฐเข้ามาช่วยอุ้มสต็อกส่วนเกินไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องแย่งรับซื้อยางหรือข้าวแพงขึ้นเพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะใช้หรือบริโภค ดังจะเห็นได้จากราคาข้าวเปลือกเจ้า5%ช่วงที่ไม่มีโครงการรับจำนำราคาตลาดเฉลี่ยประมาณตันละ 6000-7500 บาท แต่เมื่อมีโครงการรับจำนำสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีราคาสูงขึ้นเป็นตันละ 9000-11500 บาท

เหตุผลที่ผมเชียร์ให้รัฐบาลรีบออกไปรับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรง ก็เพราะเป็นมาตรการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับการรับจำนำข้าวช่วยชาวนาแทบทุกประการ ซึ่งพอสรุปง่ายๆดังนี้

1. เป็นมาตรการแทรกแซงราคาที่ต้องการกดดันให้ราคาสูงขึ้น โดยรัฐเข้าไปอุ้มเกษตรกรโดยการรับซื้อในราคานำตลาด
(เช่นราคาตลาดแผ่นยางดิบ กก.ละ 32 บาท รัฐบาลรับซื้อ กก.ละ 45-60 บาท) เป็นการเพิ่มทางเลือกและอำนาจต่อรองให้เกษตรกร
2. ทำให้เงินถึงมือเกษตรกรโดยตรงโดยการรับซื้อหรือรับจำนำจากเกษตรกรโดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเร็วขึ้นและมากขึ้น

แต่มีข้อแตกต่างกันคือ การรับจำนำข้าวเกษตรกรมีสิทธิไถ่ถอนภายใน 4 เดือน แต่ การรับซื้อยางพาราเกษตรกรไม่มีสิทธิไถ่ถอนเพราะเป็นการโอนสิทธิเด็ดขาดให้ รัฐไปเลย

ผมเห็นว่าการรับซื้อยางพาราจะประสบความสำเร็จคือสามารถผลักดันให้ราคายางสูงขึ้นได้ต้องรับซื้อในราคาสูงและในปริมาณที่มากพอ(เทียบกับอุปทานส่วนเกินที่มีอยู่ประมาณ 7-9 แสนตัน) ทำนองเดียวกับที่ต้องรับจำนำข้าวปริมาณมาก พูดง่ายๆคือต้องใช้ยาแรง

ผมจึงขอเสนอให้รัฐบาลรับซื้อยางในราคาสูง ( กก.ละ 45-60 บาท น่าจะเหมาะสม)
แต่ถ้ารับซื้อเพียง 1 แสนตัน น่าจะไม่พอเพราะในสถานการณ์ปัจจุบันมีอุปทานส่วนเกินค่อนข้างสูง (คาดว่าประมาณ 7-9 แสนตัน) และเกษตรกรชาวสวนยางที่เดือดร้อนมีจำนวนมากกว่า 1.6 ล้านครัวเรือน ถ้ารับซื้อจำกัดจะมีปัญหาการรับซื้อกระจายไม่ทั่วถึง

ผมเชื่อมั่นว่าการที่รัฐบาลรับซื้อยางจะทำให้ทุกฝ่ายรวมทั้งรัฐบาล คสช. แม่นํ้าทั้งห้าสายและฝ่ายตุลาการได้ปรับมุมมองและทัศนคติเกี่ยวกับนโยบายการช่วยเหลือเกษตรกรและให้ถูกต้องซึ่งจะทำให้สังคมสามารถก้าวข้าม "กับดักประชานิยมได้อย่างแท้จริง"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น