วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

“พิชัย” เร่งรัฐหยุดละเมิดสิทธิ์ ปิดกั้นเสรีภาพ-ทำชาวบ้านทุกข์


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน ในฐานะคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2559 ยังคงมีสภาวะย่ำแย่ ไม่ต่างจากปี 58 แต่ประชาชนอาจจะลำบากมากกว่าเดิม เพราะเจอผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง โดยภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้นนัก แม้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะฟื้นตัว แต่ประเทศไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ เพราะสหรัฐฯ ประกาศตัดจีเอสพีไทยในต้นปี 59 นี้ อีกทั้งมีการเรียกร้องไม่ให้ซื้ออาหารทะเลจากไทย ส่วนอียูก็ยังคงตัดจีเอสพี และไม่เจรจาเขตการค้าเสรีกับไทย เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย การตัดจีเอสพีนี้ก็เหมือนกับการแซงชั่นกลายๆ เท่ากับราคาสินค้าไทยต้องแพงขึ้น เนื่องจากต้องจ่ายภาษีเต็ม ทำให้สู้สินค้าคู่แข่งไม่ได้ ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังคงซบเซาต่อเนื่องไปอีกหลายปี จึงหวังพึ่งจีนยาก ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังไม่ฟื้น การคาดหวังก็คงได้เฉพาะการค้ากันเองในกลุ่มอาเซียน แต่ในอนาคตไทยอาจจะต้องนำเข้าจากอาเซียนมากกว่าส่งออก เพราะการลงทุนที่ลดลง

"การที่รัฐบาลคาดหวังว่าการส่งออกที่ตกต่ำในปี 58 ที่ลดลงกว่า 5.5 เปอร์เซ็นต์ จะกลับมาโต 5 เปอร์เซ็นต์ ในปี 59 คงเป็นไปได้ยาก การลงทุนก็ยิ่งจะหดหาย เพราะนักลงทุนในและต่างประเทศ ไม่ต้องการเสี่ยงที่จะลงทุนในไทย อีกทั้งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการดำเนินคดีไม่เป็นไปตามหลักสากล ยิ่งทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจ นอกจากนี้ยังเจอภาวะภัยแล้งต่อเนื่องที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชผลการเกษตรได้ คนชั้นกลางก็อาจจะช้อปปิงที่หักภาษีได้ในวงเงิน 15,000 บาท แล้วอาจจะไม่มีกำลังซื้ออีกมากนักหลังปีใหม่ เอสเอ็มอียังคงประสบปัญหาไม่สามารถขายสินค้าและบริการได้ และจะต้องปิดกิจการเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจในปี 59 ยังคงซบเซาต่อเนื่องซึ่งจะยุ่งยากและย่ำแย่ ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสทางการค้าและการลงทุนไปเรื่อย ๆ โอกาสการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนก็เริ่มจะหมดไป" นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข คือ 1. แก้ภาพพจน์ที่ติดลบในข่าวสารที่กระจายออกไปทั่วโลก 2.ต้องไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการกีดกันเสรีภาพหรือการจับคนโดยไม่มีข้อหาอันควรตามมาตรฐานสากล 3. การยอมรับการเห็นต่างเพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ 4.ปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง และยอมรับปัจจัยที่แท้จริงที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซา เร่งหาทางแก้ไข และ 5.แผนการเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รวมถึงวันที่ที่แน่นอนในการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักสากลที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น