วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

"นพดล" แถลงยืนยัน "ดร.ทักษิณ" ขายหุ้นชินไม่มีภาระทางภาษี


วันนี้ (22 มีนาคม 2560) เวลา 10.00 น. ที่ห้องพระราม 9 โรงแรม SC Park นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะที่ปรึกษากฎหมาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวกรณีรัฐบาลพยายามเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปฯ เมื่อปี 2549 จำนวน 329.2 ล้านหุ้น 



นายนพดล กล่าวว่า เรื่องนี้ขอเรียนในเบื้องต้นว่าไม่ได้มีใครที่จะมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษี แต่เนื่องจากกฎหมายบอกว่าไม่มีภาระภาษี ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ ประเด็นแรกก็คือเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อปี 2553 ซึ่งสรุปความตอนหนึ่งได้ว่า หุ้นในชินคอร์ปฯ ที่รวมขายให้กลุ่มเทมาเส็กในปี 2549 นั้น ดร.ทักษิณและภริยา ยังคงไว้ซึ่งหุ้นชินคอร์ปฯดังกล่าว นอกจากนั้น ศาลภาษีอากรกลางก็เคยมีคำพิพากษาสรุปความตอนหนึ่งได้ว่าหุ้นที่นายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ซื้อมาจากแอมเพิลริชเป็นหุ้นของ ดร.ทักษิณและภริยา นายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทาถือหุ้นไว้แทน และมิใช่เจ้าของที่แท้จริงของหุ้น ที่มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่จะประเมินภาษีในส่วนการโอนหุ้นโดยแอมเพิลริช 329.2 ล้านหุ้นไปให้นายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ตนมีความเห็นสอดคล้องกับนักกฎหมายภาษีหลายๆคน ว่าเมื่อหุ้นดังกล่าวยังคงเป็นหุ้นของ ดร.ทักษิณและภริยา ไม่ใช่หุ้นของแอมเพิลริช เจ้าหน้าที่จะสรุปว่ามีการซื้อขายหุ้นดังกล่าวระหว่างแอมเพิลริชกับนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทาได้อย่างไร ธุรกรรมซื้อขายดังกล่าวจึงถือเสมือนว่าไม่ได้เกิดขึ้น จึงไม่มีเงินได้และภาระภาษี เพราะหุ้นเป็นกรรมสิทธิ์ของ ดร.ทักษิณและภริยามาตั้งแต่ต้น ตรรกะก็คือท่านจะไปซื้อหุ้นซึ่งเป็นของตนเองอยู่แล้ว หรือขายหุ้นของตนเองให้ตนเองได้อย่างไร นี่คือสาระในประเด็นแรก

นายนพดล ได้กล่าวต่อในประเด็นที่สอง ว่าการขายหุ้นชินคอร์ปฯให้กลุ่มเทมาเส็กกระทำผ่านตลาดหลักทรัพย์จึงไม่มีภาระภาษี ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ข้อ 2 (23) ซึ่งกฎหมายนี้ใช้บังคับกับทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น ใช้บังคับนานพอสมควรแล้ว ประเด็นต่อไปก็คือเงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปฯ และเงินปันผลจากหุ้นประมาณ 46,000 ล้านบาท ถูกยึดตกเป็นของแผ่นดินไปตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว ประเด็นต่อไปการขายหุ้นชินคอร์ปฯเกิดขึ้นมานานเป็น 10 ปีแล้ว ตนคิดว่าประเด็นภาษีเกี่ยวกับเรื่องนี้น่าจะได้ข้อยุติไปนานแล้ว แม้แต่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้กรมสรรพากรระบุอาจดำเนินการไม่ได้ แต่มีการอธิบายว่าเป็นอภินิหารทางกฎหมาย (Miracle of Law) เพราะเจอช่องทางที่สมควรจะเสี่ยงดูในเรื่องที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ หลายคนตั้งคำถามว่าจะเสี่ยงไปทำไม ในเมื่อกรมสรรพากรก็ให้ความเห็นชัดเจนไปแล้วในประเด็นนี้ ซึ่งโดยส่วนตัวศึกษากฎหมายมาก็พึ่งเคยได้ยินคำอภินิหารทางกฎหมายเป็นครั้งแรกก็ในครั้งนี้ แต่ที่ได้ยินมานานและเห็นว่าสิ่งที่นักกฎหมายต้องปฏิบัติตามคือหลักนิติธรรม (Rule of Law) ตนเห็นว่าในยามที่บ้านเมืองเราต้องการสร้างความปรองดอง หลักนิติธรรมจะนำเราไปสู่ความปรองดองแน่นอน ไม่มีความจำเป็นต้องเสี่ยง


"สุดท้ายคือประเด็นที่อยากจะพูดเกี่ยวกับ ดร.ทักษิณ ท่านได้เคยพูดไว้ว่าท่านเป็นหนูตัวเล็กๆ อายุก็ 68 ปีแล้ว อยู่ต่างประเทศเงียบๆ แต่ก็ยังรักและปรารถนาดีต่อประเทศเสมอมา ท่านก็หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมในเรื่องนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร พิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบและบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรม เท่าเทียม เสมอภาค เชื่อว่ากรมสรรพากรเป็นผู้มีความรู้เรื่องกฎหมายภาษีเป็นอย่างดี และได้พิจารณาเรื่องภาษีหุ้นชินคอร์ปฯโดยสุจริต ถ้าท่านปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ การกระทำของท่านก็จะได้รับความคุ้มครอง และไม่ถูกฟ้องตามมาตรา 157 การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐ และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศอีกด้วย" นายนพดลกล่าว

เมื่อถามว่า ถ้ากรมสรรพากรมีการออกใบกำกับภาษีให้ ดร.ทักษิณ จะมีการฟ้องร้องกลับหรือไม่? นายนพดล กล่าวว่า ถ้ามีการประเมินแล้วเรื่องต้องไปสู่กระบวนการยุติธรรม ตนคิดว่าจะมีการแต่งตั้งทนายความ หรือที่ปรึกษาทางกฎหมายเพื่อที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไป ส่วนการจะดำเนินฟ้องร้องใครในชั้นต้น ขณะนี้ยังไม่สามารถพูดได้ เพราะเป็นเรื่องที่ทีมทนายความจะต้องไปพิจารณาก่อน แต่โดยหลักแล้วเราก็ต้องรักษาสิทธิที่พึงมีพึงได้ของ ดร.ทักษิณ

เมื่อถามว่า สตง. แย้งว่าสามารถเรียกเก็บภาษีได้ ใช้ตามช่องทางมาตรา 61 ของประมวลรัษฎากรสามารถทำได้หรือไม่? นายนพดล กล่าวว่า เรื่องนี้มันจบไปแล้ว การที่จะประเมินภาษี ดร.ทักษิณต้องใช้มาตรา 19 ของประมวลรัษฎากร ซึ่งเจ้าหน้าที่ประเมินจะต้องออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีภายใน 5 ปี แต่ขณะนี้ผ่านพ้นเวลานั้นมาแล้ว ในความเห็นของเราในเบื้องต้นเรื่องนี้มันจบไปแล้ว  และขาดอายุความไปแล้ว ส่วนที่ทางรัฐอ้างว่ามีช่องทางในการดำเนินการ เรื่องนี้ทางทนายความต้องไปศึกษา คงมีประเด็นข้อต่อสู้ที่ไม่จำเป็นต้องพูดในช่วงนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องความเห็นทางกฎหมายที่ต่างกัน แม้กระทั่งกรมสรรพากรที่เชี่ยวชาญในเรื่องภาษีระบุว่าทำไม่ได้ ส่วนที่ผู้มีอำนาจระบุว่า การเรียกประเมินภาษีนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา เปรียบเสมือนเรียกประเมินภาษีไปยัง ดร.ทักษิณแล้ว ซึ่งก็เป็นข้อโต้แย้งของฝ่ายที่จะประเมินภาษี แต่ฝ่ายที่ถูกประเมินมีความเห็นว่า เรื่องนี้จบสิ้น และขาดอายุความไปแล้ว ต้องนำเสนอความเห็นทางกระบวนการกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม ที่รัฐระบุว่าส่งหมายให้นายพานทองแท้ และ นางสาวพินทองทาถือเสมือนว่า ส่งให้ตัวการนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทาถือหุ้นแทน ดร.ทักษิณ แต่ไม่ใช่ตัวแทน ดร.ทักษิณ ซึ่งภาษาอังกฤษของการถือหุ้นแทนใช้คำว่า นอมินี แต่คำว่าตัวแทนคือคำว่า เอเจนท์ ตัวการคือคำว่า พริ้นซิเพิล ซึ่งในภาษาอังกฤษนั้นแตกต่างกัน

เมื่อถามว่า โดยหลักกฎหมายจะอ้างได้หรือไม่ว่าแจ้งไปที่ผู้ถือหุ้นแทนแล้ว? นายนพดล กล่าวว่า ตนมองว่าอ้างไม่ได้ แต่รัฐบาลคงมองว่าอ้างได้ซึ่งนี่คือ Miracle of Law หรืออภินิหารทางกฎหมายที่พูดถึงกัน

เมื่อถามว่า กรมสรรพากรได้ส่งใบประเมินภาษีถึง ดร.ทักษิณแล้วหรือยัง? นายนพดล กล่าวว่า ไม่ทราบว่าส่งถึงหรือยัง เพราะไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้ ได้ยินแต่ทางฝ่ายรัฐบาลให้สัมภาษณ์ว่าจะส่ง โดยส่วนตัวแล้วยังไม่ได้เห็น ก็เป็นสิทธิของกรมสรรพากรของรัฐบาลที่จะแถลงว่าเป็นเรื่องที่ทำได้หรือไม่ได้  ซึ่งก็เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงความเห็นที่สังคมพึงมี ฝ่ายรัฐบาลก็มีสิทธิที่จะแถลงว่าทำได้ แต่ผู้ที่ถูกประเมินก็มีสิทธิที่จะแถลงว่ามันจบไปแล้วและทำไม่ได้ โดยส่วนตัวก็จะขอพูดถึงแต่ในเนื้อหาข้อกฎหมาย ไม่ประสงค์ที่จะให้ความเห็นทางการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น