วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562

"ดร.ทักษิณ" แนะ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาระบบเศรษฐกิจ

ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นอนาคตของโลกใบนี้ครับ ในยุคที่หุ่นยนต์ถูกนำมาใช้ทดแทนแรงงานอุตสาหกรรม เราต้องเปลี่ยนแปลงความคิดเพื่อนำแรงงานมาสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แล้วอุตสาหกรรมของไทยจะแข่งขันได้ด้วย Mass Customization ที่แตกต่างจากอุตสาหกรรมผลิตจำนวนมาก
ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน เสื้อผ้าประจำชาตินำมาประยุกต์ออกแบบใหม่ด้วยความคิดสร้างสรรค์เพื่อขายได้ทั่วโลกเช่นของ DKNY ผมเคยมีแนวคิดจ้างนักการตลาดระดับโลกมาพัฒนา OTOP มาก่อน แต่การจะทำได้ต้องเปลี่ยนการศึกษา จากการเรียนแบบแท่งๆ แยกรายวิชา มาเป็นให้เด็กเรียนรู้อย่างไม่มีเส้นแบ่งเขต ซึ่งคนไทยทำได้ครับ
สวัสดีครับท่านพี่น้องที่เคารพรักครับ วันนี้จะมาพูดเรื่อง Creative Economy หรือเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ หรือว่าใช้ความสามารถในการสรรสร้างเพื่อทำมาหากินนั่นเองนะครับ ก็อยากจะเป็นช่องทางอันหนึ่งที่จะแนะนำว่าเราจะทำมาหากินอะไรกันดี เพราะในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พัฒนาการของเราก็ยังล้าหลังหลายๆประเทศ ในหลายๆด้าน เราจะมาแก้ไขปัญหาว่าคนไทยจะทำมาหากินอย่างไรดี ผมคิดว่าสิ่งทีเรายังมีอยู่และจีนก็สู้เราไม่ได้ในจุดหลักๆนี้ก็คือ เรื่องของการที่จะเอาทักษะฝีมือคนไทย วิธีคิดแบบไทย    ที่จะมาประยุกต์เพื่อให้ทันโลก ให้เป็นที่ต้องการของโลกยังมีช่องทางอีกมากมาย จากการสำรวจพบว่า สถิติที่มีอยู่ประมาณปี 2559 คนไทยประมาณเกือบ 900,000 คน ทำมาหากินอยู่ในสายงานที่เรียกว่า Creative Economy หรือเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์นะครับ จริงๆแล้วมีมากกว่านี้เยอะ มันอยู่ในสายเลือดแต่เราต้องมาปรับปรุง มาพัฒนา มาอบรม มาสอน นำเทคโนโลยีมาช่วยประกอบ เราสามารถที่จะหาคนเหล่านี้มาทำมาหากินได้อีกเยอะ ผมคิดว่าถึงเวลาที่ต้องนั่งคิดว่าเราจะเคลื่อนย้ายแรงงานของคนไทยทั้งหมดอย่างไร
ถ้าสมมุติว่าวันนี้เราต้องเริ่มนำเอาหุ่นยนต์เข้ามาใช้เยอะ แรงงานก็จะว่างเยอะ เหลือแต่แรงงานที่สามารถเป็นนายหุ่นยนต์ได้ที่จะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมภาคการผลิตต่อ ส่วนคนที่ทำงานเป็นนายหุ่นยนต์ไม่ได้ ต้องใช้แรงงานอย่างเดียวก็จะ ตกงาน คนเหล่านี้ต้องย้ายมาอยู่ในภาคบริการ ภาคบริการเช่นเรื่องของภาคการท่องเที่ยว มาเป็นเชฟ มาปรุงอาหาร มาหัดเสิร์ฟ มาหัดทำด้านเสริมสวย ด้านสปา มันทำได้หลายอย่างนะครับ ทำงานหัตถกรรมก็ได้เพราะว่าคนไทยมีฝีมือที่จะเทรนได้ ผมเคยไปเห็นเด็กจบ ป.4 เอามาฝึกวาดรูปแป๊บเดียววาดได้สวยงามเพราะเราเหมือนกับมี DNA ตัวนี้อยู่ พอมาถึงด้านของคนที่ทำงานด้านการเงิน ธนาคาร ที่ตกงานเป็นหมื่นๆคน  คนเหล่านี้มีความรู้เรื่องการเงิน เราก็น่าจะเอามาปรับให้มาเป็นผู้ประกอบการได้ เอามาฝึก มาสอน มาเทรน ให้เป็นผู้ประกอบการและเขารู้เรื่องการเงินเขาจะปรับตัวได้ดี แล้วก็นำแรงงานที่เคลื่อนย้ายทั้งหลายมาทำด้าน Creative Economy
ผมเคยเจอคนหนึ่งนะครับ เมื่อประมาณปี 2540 ที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ ตอนนั้นเขาตกงานจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เขาก็มาคิดว่าจะทำอะไรดี ก็มั่งมองเห็นทองม้วน เอามาปรับใหม่ เอามาใส่หมูหยองบ้าง    เอามาใส่ช็อกโกแลตบ้าง และทำแพ็คเกจหรือทำห่อสวยๆงามๆ มีฉลากสวยๆ ก็ส่งขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ก็เลยมีรายได้ดีกว่าตอนเป็นลูกจ้างเงินทุนหลักทรัพย์เสียอีก อันนี้ก็คือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอด มาปรับปรุง มาเพิ่มมูลค่า อะไรแบบนี้ถือว่าเป็นงานด้านนี้หมด ซึ่งจีนก็เก่งแต่ว่าจีน จะเน้นในด้านอุตสาหกรรมที่เป็นการผลิตเยอะๆ หรือเป็น Mass Production เพราะฉะนั้นในอุตสาหกรรมที่เป็น Mass Customization เรายังมีช่องที่จะเข้าไปแข่งขันได้อยู่ นะครับ ถ้าเรา Customize หรือว่าทำดีไซน์เฉพาะแบบ เฉพาะคน เฉพาะกลุ่มคนอะไรแบบนี้ เรายังเก่งอยู่นะครับ เราสามารถทั้งรัฐและเอกชนช่วยกันเอาแรงงานที่มีอยู่ปัจจุบันมาเทรนกันใหม่ เราก็จะสามารถสร้างคนที่ผลิตผลทางด้านทางเศรษฐกิจของไทยได้อีกเยอะนะครับ ก็เป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องเข้าไปช่วยเยอะหน่อย ก็เหมือนที่ Bill Gates เคยพูดนะครับ Bill Gates ที่เป็นเจ้าของไมโครซอฟท์  Bill Gates พูดว่าถ้าเราเกิดมาจนมันไม่ใช่ความผิดของเราหรอก แต่ถ้าเราตายจน เป็นความผิดของเราแน่นอน แต่ถ้าเรายังไม่อยากตายจนแต่เรามาตายจนถือว่าเป็นความผิดของรัฐบาล เพราะว่ารัฐบาลมีหน้าที่ต้องสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับคนในชาติ เพื่อให้คนในชาติได้มีโอกาสที่จะดิ้นรน ทำมาหากินได้อย่างสะดวกสบายขึ้นเพื่อที่จะได้ไม่ต้องตายจนนั่นเองนะครับ รัฐบาลทุกประเทศจะต้องพยายามสร้างโอกาสให้คนนะครับ
วันนี้ทั่วโลกมีสิ่งที่เรียกว่า Artisan Product เป็นของที่เกิดจากฝีมือแรงงานของคนพื้นบ้าน  แต่ว่าระดับการพัฒนาต่างกัน ผมไป Africa ไปเห็นพวก souvenir ของที่ระลึก ไปเห็น ดูสวยไหม สวย แต่ยังไม่อยากซื้อ   ไม่รู้ซื้อไปทำอะไร นั่นก็คือว่ามันยังไม่สามารถเอามาใช้งานในประจำวันได้ นั่นก็คือว่าการออกแบบหรือการ    ใช้งานมันไม่ตรงกับความนิยมของตลาดทั้งโลกนะครับ OTOP ของเราตอนที่เราเริ่มต้นใหม่ๆ เราก็ไปปรับปรุงแบบ เราเอาเทคโนโลยีไปช่วยบ้าง เอาการตลาด เอา packaging มาช่วยบ้าง ผลสุดท้ายก็ขายได้ในปีแรกๆขายได้ถึง 40,000 กว่าล้านบาทในสมัยก่อน ตอนหลังมาผมก็เลยไปจ้างนักการตลาดคนหนึ่ง ชื่อ Peter Arnell ซึ่งเป็นคนสร้างอิมเมจใหม่ให้กับ Samsung ให้กับ DKNY เขาก็ไปเอาดีไซน์เนอร์อย่างเช่นคนที่ออกแบบรถ Ferrari มาช่วยทำ ก็ลองมา redesign OTOP ใหม่ ซึ่งตอนนั้นผมกำลังจะ launch ออกไปแต่ยังไม่ได้ทำเนื่องจากการเมืองเปลี่ยนไป เขาใช้แม้กระทั่งเครื่องพิมพ์สามมิติ  (3D printer) ให้ดีไซน์เนอร์ที่ออกแบบรถ Ferrari ออกแบบสินค้า OTOP ให้ที่อุดรทำบ้าง ให้ที่ขอนแก่นทำบ้าง ให้ที่สกลนครทำบ้าง โดยใช้ไอ้ตัวนี้ออกแบบและส่งมาทางอินเตอร์เน็ต และก็ทำเป็นโมลออกมาเลย    เราก็เห็นว่าต้นแบบคือแบบนี้ เราก็ไปผลิตและใส่สีใส่อะไรไป ก็จะทำให้เราออกแบบด้วยความต้องการของทั่วโลกโดยใช้ฝีมือคนไทย แล้วก็เอาความเป็นไทยใส่เข้าไปในวัสดุนั้นๆ แล้วก็มองโลกทั้งโลกให้เป็นตลาดนั่นก็คือของออกมาต้องขายได้ทั่วโลก ไม่ใช่ขายได้เฉพาะที่เมืองไทย เช่น ของแม้ว ไม่ปรับประยุกต์ก็ขายยาก ก็เป็นลักษณะของการที่ต้องดีไซน์ ให้ถูกต้องกับรสนิยมของคนทั้งโลก จะได้ขายได้กว้างขึ้นนั่นเอง นั่นคือการที่ผมไปจ้างคนมาทำดู เพื่อที่จะได้ลองรู้ว่าเราจะทำได้ไหม
Peter Arnell ยกตัวอย่างให้ผมดูผลิตภัณฑ์ของ Hermès ที่แพงที่สุดดังที่สุดในโลกมาให้ผมดู Hermès มีสัญลักษณ์อยู่นิดเดียวคือเกี่ยวกับม้าทั้งหมด ตัวม้า หัวม้า กรนม้า บังเหียนม้า อานม้า ทั้งหมดเอามาผสมผสาน ดีไซน์ใส่ตรงนั้นตรงนี้ให้มันมี accent หรือมีความเป็นม้าอยู่ในดีไซน์ของแต่ละอัน ไม่ว่าจะเป็นจาน เป็นผ้าพันคอ เป็นเสื้อผ้า ผ้าห่มอะไรพวกนี้ เขาก็ใส่เข้าไป เพราะฉะนั้นคนเห็นปุ๊บก็รู้ว่าเป็น Hermès เพราะเขาสร้างแบรนด์มาจนดังคนก็เลยนิยมซื้อกัน Peter เลยบอกผมว่าแบบนี้ของไทยเราก็ทำได้ เราจะทำบ้านเชียง เราก็เอาดีไซน์บ้านเชียงมาทำเป็นผ้าพันคอ เป็นเสื้อเชิ้ต แต่ต้องดีไซน์ออกมาเพื่อให้คนทั้งโลกใช้ได้ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ว่าความเป็นไทยใช้ได้เฉพาะแค่คนไทยไม่ใช่ ต้องใช้ได้ทั่วโลก มันก็เป็นวิธีคิดแบบใหม่ ที่จะทำให้เกิดตลาดที่กว้างขึ้น
สิ่งที่เป็น artisan product หรือสิ่งที่เป็นของประจำชาติทั้งหลาย ตัวอย่างอีกคนหนึ่งคือ Donna Karan ยี่ห้อ DKNY จะใช้คนไปหาซื้อเสื้อผ้าต่างๆ ที่เป็นของประจำชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ปากีสถาน จีน ไทย ชาวเขาเผ่านั้นเผ่านี้แล้วไปแขวนไว้ในโกดัง แล้วก็ตั้งโต๊ะเพื่อให้ดีไซเนอร์นักออกแบบของเขานั่งมอง ใครจะเอาแบบนั้นมาผสมกับแบบนี้ เอาแบบนี้ไปประยุกต์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ออกแบบมาใหม่ แล้วก็ตัดเย็บเพื่อให้เป็นแบบที่สากลใช้ สากลใส่ แล้วก็ขายดิบขายดี มีอยู่วันหนึ่งผมไปนั่งกินข้าวกับนายกปู เขาบอกว่า พี่ๆมีชาวเขามานั่งข้างๆเรา ผมก็หันไปดู อ้าว! ปรากฏว่าเป็นฝรั่งใส่ปลอกคอของอีก้อ แต่ว่าเป็นการออกแบบใหม่แล้ว ทำใหม่แล้ว มีคนเอาไปทำขาย แต่เป็นไอเดียมาจากปลอกคอของอีก้อที่คอยาวแบบนั้น เอามาใส่ มันก็ดูสวยดีพอดีไซน์ใหม่ ฝรั่งเอามาใส่มันก็ดูดีขึ้น สิ่งแบบนี้มันเป็นเรื่องของการเอาของที่มีอยู่ เอาความคิดสร้างสรรค์มาปรับใหม่ก็ขายได้แล้วนะครับ แม้กระทั่งอย่างกางเกงที่เรียกว่ากางเกงแบบ Slim Fit คือรัดรูปเลย เป็นเลกกิ้งแล้วใส่เสื้อตัวใหญ่ๆยาวๆจริงๆก็ประยุกต์มาจากชุดของคนอินเดียนี่เอง
วันนี้จะทำอย่างไรให้คนมี creative ให้คนมีความคิดสร้างสรรค์  Ph.D. Ken Robinson ได้พูดในรายการ TED Talk เมื่อประมาณปี 2006 และก็เขียนหนังสือตัวเองเล่มหนึ่งชื่อ Creative School คือว่า อยากจะมีการปฏิรูปตั้งแต่ชั้นล่างลงมาเลย เพื่อจะเปลี่ยนระบบการศึกษาให้เด็กที่จบมาแล้วมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะว่าระบบการศึกษาเราทั่วโลกที่ยังไม่พัฒนาแล้วเหมือนกัน ได้รับอิทธิพลมาจากโลกยุคที่สอง คือยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั่นเอง คือทุกอย่างที่เค้าเรียกว่า silo thinking คือมีความคิดเป็นแท่งๆ แท่งๆ มีแต่ละวิชา เป็นวิชา 1 วิชา 2 วิชา 3 แยกกันหมด แต่โลกยุคใหม่มันเป็นโลกที่วิชาแทบจะไม่มีเส้นแบ่งเขต มันเรียนรวมกันเบลอจนไม่มีวิชา แต่ในเนื้อหามันมีทฤษฎีของวิชาแต่ละวิชาปนกันไปหมดอยู่ในนั้น ผลสุดท้ายมันจะกลายเป็น1 + 1 ได้มากกว่า 2 3 4 5 ถ้า 1 เป็นแท่งๆ  1 + 1 เต็มที่ก็ได้ 2 บางทีได้ศูนย์ก็มี ได้ 1 ก็มี ติดลบก็มี เพราะว่าโลกมันเปลี่ยน วิธีคิดมันเปลี่ยน
เพราะฉะนั้นวิชามันเลยไม่มีเส้นแบ่งวิชาเพื่อให้เด็กมีความคิดพัฒนาเองตลอดเวลา เพราะฉะนั้นหลักสูตรการศึกษาก็เลยเป็นเรื่องที่ทะเลาะกันเถียงกันระหว่าง  นักการศึกษากับนโยบายรัฐบาลแต่ละประเทศเหมือนกัน คล้ายกัน แต่ว่าหลายประเทศก้าวหน้าไปอย่างเช่น ประเทศฟินแลนด์อย่างเช่นสิงคโปร์ พวกนี้เขาไม่ยอมมีหลักสูตรที่ตายตัว ต้องเรียนวิชานั้น ชั่วโมงนั้นเรียนตารางสอนมีอย่างนี้ เขาเลิกเพราะแบบนั้นมันเป็นแบบโลกยุคที่สอง วันนี้เราไปยุคที่ 3 ยุคที่ 4 แล้วนะครับ จะเข้าสู่ยุคที่ 5 อยู่แล้วเรายังมีวิธีคิด วิธีบริหารราชการแผ่นดิน ยังใช้วิธีนั้นอยู่ มันไม่สามารถที่จะสร้างวิธีการคิดอย่างสร้างสรรค์หรือไม่สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้คน มีความคิดสร้างสรรค์  เหมือนที่ผมเคยพูดเรื่องวัฒนธรรมองค์กรไปแล้ว
เพราะฉะนั้นความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่มีราคาแพงมาก เพราะสมองมนุษย์อย่างที่นาย Jim Quick ซึ่งเป็นเด็กเอเซีย ซึ่งไปอยู่เป็นอเมริกันเอเชีย เขามีวิธีคิดที่จะค้นหาให้เจอว่าสมองเรามีความเป็นเลิศตรงไหน เพื่อจะเอาตรงนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ปรากฏว่าบางทีบางครั้งเราก็ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ จนบางคนอายุมากแล้วยังค้นหาตัวเองไม่เจอว่าตัวเองชอบอะไร และทำอะไรได้ดีที่สุด นาย Jim Quick บอกว่า information is power แต่ว่า your brain คือ superpower คือสมองเราเนี่ยเป็น super power เลย เพราะฉะนั้นต้องทำอย่างไรถึงจะขุดสิ่งที่มันอยู่ลึกๆได้ว่า สมองเราเก่งอะไร แล้วทำมาหากินในตรงนั้น และเราก็จะได้ทำมาหากินได้สำเร็จนะครับ
นาย Ken Robinson ก็เป็นคนที่พยามกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นั่นเองนะครับ ความจริงมันก็มีอีกหลายคนที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์เช่น Tom Peters เขียนหนังสือเรื่อ Re-Imagine เมื่อปี 2003 เขาบอกว่าให้หัดคิดให้ประหลาดนะ ถ้าความคิดประหลาดของเราคนเดียวยังประหลาดสู้คนอีกหลายๆคนรวมรวมกันไม่ได้ ก็คือว่า learn How to think weirdก็คือคิดให้แปลกประหลาดหน่อย เพราะว่า Collectively เนี่ย They are weird than you ฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าคุณจะประหลาด ไม่ต้องอะไร เสื้อผ้ายี่ห้อ Gucci เขาเปลี่ยนดีไซน์เนอร์เมื่อสองปีที่แล้ว ผมไปดูเสื้อผ้าออกมาใหม่ โอ้โห! มันจะใส่ได้ยังไง มันบ้าหรือยังไง มันฟู่ฟ่า สีมันสลับมันวุ่นวายไปหมด แต่ปรากฏว่า เอ๊ะ! มีคนซื้อใส่ ซื้อไปซื้อมามีคนเลียนแบบ ยี่ห้ออื่นก็เลียนแบบบ้าง ก็เลยเกิดความคิดที่ใส่เสื้อผ้าแบบนี้บ้าง คือคนเราถ้ากล้าคิด กล้าทำอะไรในสิ่งที่คิดว่าสิ่งนี้ดี แล้วก็มีความคิดที่มันสร้างสรรค์ไม่เดือดร้อนใครคนก็เลยนิยม
Tom Peters เขียนหนังสือเมื่อปี 2003 เพราะว่าเห็นว่าโลกกำลังมีพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงสูง ก็เลยไปคิดว่าเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ได้แล้ว คือกระตุ้นให้คนคิดใหม่ โดยการคิดที่มันโดดจากกรอบเดิมๆนั่นเอง      พอปี 2018 Tom Peters เขียนหนังสือเล่มใหม่ ชื่อ Excellence Dividend เขาเขียนด้วยความตกใจว่ามันมีสึนามิของเทคโนโลยี คือเทคโนโลยีมาแรง มาเป็นขบวนใหญ่เลย หลายรูปแบบ เพราะฉะนั้นเราจะปรับตัวอย่างไรดีล่ะไม่งั้นเดี๋ยวอยู่ไม่รอดนะ อันนี้คือหนังสือในปี 2018 ของ Tom Peters นะครับ
นอกจากที่เราดูแล้วเนี่ย เรื่องที่จะคิด Creative economy ผมเลยอยากแนะนำหนังสืออีกสองเล่ม     เล่มแรกเขียนเมื่อปี 2018 หนังสือชื่อ The Gen Z frequency เขาบอกว่าเราต้องศึกษาว่าเด็กพวกนี้ เด็กที่เกิดในปี 2011 ถึงปี 1996 คือ 8 ขวบถึง 23 ขวบ มันคิดยังไง มันสื่อสารกันยังไง และกลุ่มของคนเหล่านี้คิดยังไง เพื่อที่จะได้ทำการตลาดได้ถูก นั่น creative จะต้อง match กับ target ลูกค้า อันนี้คือบอกว่าเป็น target กลุ่มใหญ่เลยนะ ลูกค้าวัยขนาดนี้วิธีคิดเขาไม่เหมือนกับพวกเรานะ เพราะฉะนั้นเราต้องศึกษาให้เข้าใจ หนังสือเรื่อง Gen Z ก็เป็นการสอนเรื่องการทำการตลาดกับเด็ก
อันที่สองหนังสือที่ผมอยากจะแนะนำอีกเล่มหนึ่ง มันเกี่ยวข้องกันคือนอกจากที่คุณมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี ทำการตลาดเป็น แต่รูปแบบของธุรกิจนี้สำคัญนะ หรือ The Business Models Handbook เขียนโดย Paul Hague เขียนในปี 2019 นี้นะครับ หนังสือใหม่ เป็นหนังสือที่ผมอยากจะแนะนำว่านักธุรกิจที่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำมาหากินอะไรดี หลังจากคิดได้แล้วว่าจะเป็นcreative economy หรือ technology related ก็ไปซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่าน อ่านง่ายครับ เขาไปรวบรวมความคิดของคนหลายๆคน อย่างเช่น Edward de Bono ที่ผมพูดเมื่อคราวที่แล้วให้ฟังว่า มีวิธีคิดสอนคิดยังไงก็ให้เอามาใช้ ลำดับความสำคัญก่อนหลังของการทำ segment ตลาดในส่วนต่างๆ หรือว่าความคิดของ Abraham Maslow เรื่องลำดับชั้นของความต้องการ   ของมนุษย์ เพื่อให้ทำการตลาดให้ลงตัวกัน เป็นหนังสือที่ถือว่าอ่านง่ายแล้วก็เอาความคิดต่างๆจากตรงโน้นตรงนี้มาเพื่อให้เราได้เห็นว่า แล้วเราจะเลือกทำธุรกิจในรูปแบบไหนดี ถึงจะทำเงินได้ในยุคนี้สมัยนี้ ก็น่าอ่านครับ เขียนโดย Paul Hague นะครับ ชื่อหนังสือ The Business Models Handbook นะครับ
ครับวันนี้จะเลยเวลามาหน่อย พยายามพูดให้เร็วแต่ว่ายังตกหล่นอีกหลายอย่าง แต่ว่าเวลามันไม่พอแล้ว ก็ขอขอบคุณเท่านี้นะครับ แล้วก็ขออวยพรให้ประสบความสำเร็จในการทำมาหากินทุกคนนะครับ  ผมเชื่อว่า Creative Economy เป็นจุดที่คนไทยจะสามารถที่จะต่อยอดไปทำมาหากินหรือรวบรวมผู้คนที่มีความเก่งทางด้านนี้เข้ามากันได้หมด เพราะว่าคนที่มาจากทุ่งนา จากอีสาน สามารถเป็นเชฟอาหารญี่ปุ่นได้ดีเลย อาหารอิตาเลี่ยนก็ได้ เพราะฉะนั้นมันเทรนได้หมดเพราะว่าคนไทยเทรนเก่ง ไปดูตรงจุดนี้ แล้วทำมาหากินตรงนี้ให้ได้ครับ ขอให้ประสบความสำเร็จโชคดีทุกคนครับ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น