วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ทวี" เสนอเพิ่ม "กสม.-ท้องถิ่น" เป็น กก.นโยบายตำรวจ

“ทวี สอดส่อง” เห็นด้วยร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 13/1 กรรมการตำรวจมี 2 คณะ แต่เสนอเพิ่มผู้แทนเลขาฯสมช. ศาลปกครอง กรรมการสิทธิฯ ป.ป.ช. สภาทนายความ และ นายก อบจ. เข้าเป็นกรรมการ เพื่อเป็นจุดยึดโยงกับองค์กรอื่น ชุมชนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชน  


ในการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะกรรมาธิการฯ อภิปรายตอนหนึ่งว่า เห็นด้วยกับมาตรา 13/1 ที่ให้มีคณะกรรมการของตำรวจ 2 คณะ คือ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) 


เรื่องมีคณะกรรมการ 2 คณะเป็นเรื่องที่ทำถูกต้องตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายตำรวจเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 260 ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อให้ปฏิรูปตำรวจให้เสร็จภายใน 1 ปี และคณะกรรมการก็เสนอขึ้นมาแล้วว่ามี 2 ก. หมายถึงมีกรรมการ 2 คณะ แต่ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลกลใด รัฐบาลไปเล่นแร่แปรธาตุเพื่อไม่ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอ ไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่างใหม่ จนเป็นร่างนี้ และเสนอให้เหลือกรรมการชุดเดียว (คือ ก.ตร.) แต่ในชั้นกรรมาธิการได้แก้ไขกลับมาเป็น 2 คณะ 


การมีคณะกรรมการตำรวจ 2 คณะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะภารกิจของตำรวจเป็นภารกิจที่ต้องประสานกับกระบวนการอื่นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบย่อยในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ อัยการ ศาล และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ตำรวจมีหน้าที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน ตำรวจมีหน้าที่เรื่องความมั่นคงภายใน 


ดังนั้นภารกิจที่เข้ามาสู่ตำรวจจะโถมทับและมีมากมาย จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง นอกเหนือจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ที่เป็นการบริหารจัดการภายใน เพราะในระบบย่อยที่เอ่ยถึงนั้น เป็นองค์กรที่มีองค์กรอยู่แล้ว และองค์กรก็มีวัตถุประสงค์ต่างกัน เกิดขึ้นมาตามเหตุและผลขององค์กรดังกล่าว แต่ทั้งหมดจะเดินไปหาประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคง และป้องกันการละเมิดกับประชาชน ดังนั้นเราต้องมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งขึ้นมาประสานงาน คือคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ 


แต่ขอเพิ่มองค์ประกอบใน (3) เนื่องจากที่มีอยู่ยังไม่สอดคล้องกับภารกิจตำรวจ ก็คือ ขอให้เพิ่มเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ขอให้เพิ่มเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เพราะเรื่องจำนวนมากเป็นเรื่องที่ใช้อำนาจทางการปกครองแล้วประชาชนก็ไปฟ้องศาล ตำรวจก็ไปฟ้องศาลปกครอง เวลาศาลปกครองมาชี้แจงจะมีปริมาณงานที่ตำรวจฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำนวนมาก ดังนั้นควรจะเอาเรื่องนี้ไปอยู่ในคณะกรรมการนโยบายฯ


ขอเพิ่มเลขาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอเพิ่มเลขาธิการ ป.ป.ช. ขอเพิ่มสภาทนายความ ขอเพิ่มนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้งประเทศ เพราะเราไม่มีจุดที่ยึดโยงกับประชาชนเลย แล้วคณะกรรมการชุดนี้ เป็นคณะกรรมการเพื่อที่จะดูแลประชาชนทั้งประเทศ เห็นด้วยว่าคณะกรรมการชุดนี้ควรมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 


แต่เมื่อคณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ให้มีกรรมการเฉพาะที่เอ่ยขึ้นมาในร่างกฎหมาย โดยลอกจากคณะกรรมการปฏิรูปตามมาตรา 260 ก็เลยล็อกมาแค่นั้น ตนจึงขอสงวนเพื่อจะขอเพิ่มบุคคลดังกล่าวขึ้นมา แต่ถ้าเพิ่มไม่ได้ก็อยากจะฝากเป็นข้อสังเกตุไว้ว่า ให้คณะกรรมการชุดนี้ฟังประสบการณ์และทัศนะ ของบุคคลที่ตนได้เสนอว่าควรเข้ามาเป็นกรรมการ โดยเฉพาะท้องถิ่นชุมชน ซึ่งเราเพิ่งกำหนดไว้ในกฎหมายตำรวจ ถือว่าเป็นความก้าวหน้าชนิดหนึ่ง จึงข้อสงวนสำหรับมาตรานี้ตามที่อภิปรายไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น