วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ประชาชาติ" อัดรัฐขึ้นราคาปุ๋ย แนะเกษตรกรใช้เกษตรอินทรีย์ลดต้นทุนการผลิต

นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในประเด็นที่มีหน่วยงานภาครัฐอนุมัติให้มีการปรับราคาปุ๋ยหน้าโรงงานหลายสูตรตามที่ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าเสนอมา ว่า เรื่องดังกล่าวสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการของรัฐบาล ที่ปล่อยให้ประชาชนเผชิญวิกฤตปัญหาราคาพลังงานเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อทั้งต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่ง และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ซ้ำเติมปัญหาเกษตรกร ประเทศไทยพึ่งการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศสูงถึง 90-95% และปัจจุบันมูลค่าต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า  ทั้ง ๆ ที่ ประเทศไทยมีทรัพยากรที่สามารถผลิตปุ๋ยได้เอง คือแม่ปุ๋ยไนโตรเจนที่ได้จากก๊าซธรรมชาติ และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมที่มีแหล่งแร่โพแทสเซียมที่จังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ อีกทั้งมีการนำเข้าปุ๋ยเคมี เฉลี่ย ปริมาณ 5 ล้านตัน มูลค่า 50,000 กว่าล้านบาท วัตถุอันตราย อาทิ ยาฆ่าแมลง ฆ่าวัชพืช ยาฆ่าโรคพืช เฉลี่ยมูลค่า 30,000 กว่าล้านบาท ปริมาณเกือบ 200,000 ตัน รวมกันทั้งปุ๋ยและวัตถุอันตราย มูลค่าเกือบ 100,000 ล้านบาท

ทางออกของการลดต้นทุนเกษตรกร คือ ประเทศไทยควรทบทวนเรื่องการสร้างโรงงานปุ๋ยแห่งชาติของตนเอง ซึ่งปัจจุบันนี้น่าจะคุ้มทุน รวมทั้งการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-60) เพื่อแลกเปลี่ยน ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 กับประเทศเพื่อนบ้าน เน้นการนำบายโพรดักส์ที่อยู่ในรูปปุ๋ยไนโตรเจนมาช่วยเกษตรกรให้มากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่นจุลินทรีย์ ทดแทนการใช้สารเคมีหรือวัตถุอันตรายเป็นต้น

นายมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคต ประเทศไทยควรใช้ยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง (Connectivity Strategy) ระหว่างประเทศ ในมิติเศรษฐกิจ, ความมั่นคงด้านการเกษตร มีความสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอาเซียน ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด Covid19 ยิ่งต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อการเติบโตไปสู่อนาคตที่มั่นคง ครัวเรือนไทยประกอบอาชีพหลากหลายโดยขึ้นอยู่กับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ โดยภาคเกษตรเป็นแหล่งรายได้สำคัญของครัวเรือนไทยในชนบท ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือการรับจ้างในภาคเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาในด้านการผลิต ส่วนใหญ่ยังคงผลิตสินค้าเกษตรรายย่อย และยังขาดการวางแผนและการจัดการอย่างเป็นระบบ รวมถึงปัญหาสำคัญอย่างราคาต้นทุนการผลิต นั่นคือ ปุ๋ย ครับ













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น