วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2565

“ประชาชาติ” แนะรัฐส่งเสริมสวัสดิการภาคการเกษตร จากรัฐสู่ชาวนา

ผู้สื่อข่าวรายงานจากห้องประชุมใหญ่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า เมื่อเวลา 13.30น. ที่ผ่านมา นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย เดินทางมาพบเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน ครั้งที่ 6” โดยมีเครือข่ายสมัชชาคนจน 72 องค์กร ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคีคนจน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนักวิชาการและสื่อมวลชน มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น รับฟังปัญหา ข้อเรียกร้อง และความต้องการของเครือข่ายเกษตรกรต่อพรรคการเมือง การนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญคนจน การนำเสนอนโยบายของพรรคการเมือง การแถลงจุดยืนพรรคการเมืองต่อการเขียนรัฐธรรมนูญ และเวทีวัฒนธรรม

นายมนตรี บุญจรัส กล่าวว่า “พรรคประชาชาติเสนอว่า ต้องแก้ที่ 5 อ.ให้ทุกคนมีครบ คือ 1.อาหาร  2.อาชีพ 3.อนามัย 4.โอกาส 5.อัตลักษณ์ ส่วน 1 อ. ที่จะต้องไม่มีในสังคมคือ ความอยุติธรรม หรือความไม่เป็นธรรม เพื่อแก้ปัญหาวันนี้ เราหนีไม่พ้นแล้วที่ต้องมีรัฐสวัสดิการ”

“พวกเราต้องให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการ เพราะการแก้ปัญหาของชาติในปัจจุบัน ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนได้ นอกจากจะนำรัฐสวัสดิการมาใช้ แต่ก่อนอื่นต้องมีการปรับโครงสร้างของประเทศ ระบบการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะงบประมาณไม่ได้ถูกกระจายเข้าไปในท้องถิ่นและชุมชน รวมถึงการให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงานและสวัสดิการ โดยเฉพาะสวัสดิการภาคการเกษตร จากรัฐสู่ชาวนา”

นายมนตรี บุญจรัส กล่าวเพิ่มเติมว่า “ชาวนาไทยเป็นกลุ่มคนที่ต้องแบบรับความเสี่ยง จากกลไกตลาดทางการเกษตรที่ผูกติดกับทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ส่งผลให้ราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอนกลายเป็นความเสี่ยงที่ชาวนาต้องแบกรับ และต้องพยายามปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ปัจจุบัน ทั้งการทำงานในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ด้วยเหตุนี้ สวัสดิการภาคเกษตรจึงเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างเครือข่ายความคุ้มครองทางสังคมให้กับชาวนา เพื่อให้เป็นหลักประประกันในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงแต่โดยลำพัง”

“สำหรับข้อเสนอแนะทางนโยบายนั้น การจัดสวัสดิการภาคเกษตรจำเป็นต้อง สร้างบูรณาการทางกฎหมาย เพื่อเป็นหลักในเชิงสถาบัน นอกจากนี้ การจัดสวัสดิการภาคเกษตร ควรให้ความสำคัญกับทั้งระดับตัวบุคคลและระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันไปพร้อมกับการสร้างความเป็นธรรมในการถือครองทรัพยากรทางการเกษตรให้กับชาวนา”

“ในอนาคตควรทำการเปรียบเทียบการจัดสวัสดิการภาคการเกษตรในประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว เพื่อให้มีต้นแบบสำหรับการถอดบทเรียน ให้กับการจัดสวัสดิการในประเทศไทย”

“รัฐควรมีการกำหนดนโยบายในการช่วยเหลือเกษตรกรในด้านสวัสดิการภาคการเกษตรทั้งทางด้านเทคโนโลยี เครื่องมือ และความรู้ความชำนาญให้กับเกษตรกร เพื่อส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่พยายามลดศักยภาพในการผลิตของเกษตรกรผ่านนโยบายของภาครัฐ และภาครัฐควรลดการผลักภาระและการให้ความเท่าเที่ยมกับเกษตรกรให้เกิดความมั่นคงครับ” นายมนตรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังเสร็จสิ้นการจัดกิจกรรม นายมนตรี บุญจรัส ได้เดินชมนิทรรศการของเครือข่ายสมัชชาคนจน ที่จัดแสดงโดยรอบสถานที่จัดงานด้วย และร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องปัญหาราคาสินค้า พืชผลทางการเกษตร ก่อนเดินทางกลับในเวลา 17.30น.  



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น