วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

"ปลอดประสพ" ยืนยัน น้ำจะไม่ท่วมเขตเศรษฐกิจ



นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เผย ในรายการ รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน จะไม่ยอมให้น้ำท่วมเหมือนปีที่แล้ว โดยเตรียมมาตรการไว้หลากหลาย อาทิ พร่องน้ำทุกเขื่อนให้น้อยกว่าปีที่แล้ว 1% เพื่อทำการผันน้ำ เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำให้ใช้งานได้ทุกตัว ระดมทีมงานฝีมือดีมาพัฒนาระบบการป้องกัน มั่นใจระบบการเตือนภัยและประสานงานจะดีขึ้นเพราะได้บทเรียนจากปีที่แล้ว


เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 19 พ.ค. 2555 นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ชี้แจงแนวทางป้องกันอุทกภัย ผ่านรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน" แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ในปี 2555 นี้คาดการณ์จากสถิติเดิม คือร้อยปีที่ผ่านมา และคาดว่ามรสุมปีนี้กับปีที่แล้วคงจะเหมือนกัน ปริมาณน้ำจะอยู่ในเกณฑ์มาก แต่น้อยกว่าปีที่แล้ว คือ ประมาณ 1,500-1,600 มิลิเมตร โดยปีที่แล้วมีปริมาณฝนปีระมาณ 1,800 มิลลิเมตร ในปีนี้เราจัดการน้ำในเขื่อนให้น้อยกว่าปีที่แล้ว 1% พร่องเอาไว้ สามารถรองรับน้ำได้ หากมีน้ำไหลลงมา เราก็จะนำเข้าแก้มลิงไว้ เราเตรียมพื้นที่ไว้ 2 ล้านไร่ ซึ่งประมาณน้ำที่เหลือจะอยู่ในขั้นที่เราสามารถจัดการได้

นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า "มั่นใจปีนี้ไม่น่าห่วง ต่อให้น้ำเท่าปีที่แล้ว แต่ก็ไม่เหมือนปีก่อน เพราะเรามีเขื่อนเก็บกักน้ำ คูคลองลอกไปแล้ว 60-70% พื้นที่สำคัญ เช่น นิคมอุตสาหกรรม ทำเขื่อนล้อมรอบหมด แม่น้ำลำคลองสำค้ญ เรายกพนังขึ้นสูงทั้งหมด เช่น คลองรังสิต ตั้งแต่ต้นคลองถึงท้ายคลอง ยาว 25 กม. เรายกขึ้นหมด ถ้าน้ำท่วมไม่มีทางข้ามคลองรังสิตได้ ซึ่งก็หมายความว่าดอนเมืองจะปลอดภัย แม้ประเทศไทยตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่ม ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม เรื่องน้ำไม่ท่วมเลยคงไม่มี จะมีท่วมตามธรรมชาติบ้าง อย่างเช่น ริมน้ำเจ้าพระยา สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท น่าจะมีท่วมบ้าง แต่ถ้าเป็นเขตเศรษฐกิจเราป้องกันไว้หมด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ไม่ท่วม เพราะไม่ให้ท่วมแล้ว"

ประธาน กบอ. กล่าวต่อว่า "ปีนี้เราไปเก็บข้อมูลความละเอียดของพื้นที่เส้นทางน้ำทั้งหมด จะรู้ว่าทางน้ำจะไปไหน และเราก็ใช้ระบบเครือข่าย 3G ช่วยทำให้รู้ละเอียด นอกจากนี้ เรายังมีการติดโทรทัศน์วงจรปิด หรือ ซีซีทีวี ในพื้นที่ที่เราต้องเห็นน้ำ อีกทั้งยังมีตัวเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ ออกไปถึงสมุทรปราการ ปัจจุบันมีทั้งหมด 800 ตัว แต่จะเพิ่มขึ้นให้ถึง 1,000 ตัว ซึ่งท่านนายกฯ ได้ไปดูงานที่จีนมา แล้วมีคำสั่งให้ดูว่าประเทศไทยควรมีซีซีทีวี เซ็นเซอร์ เท่าไหร่ ซึ่งจะมีการติด 2 ชุด ชุดแรกใน 1-2 เดือนเสร็จ ส่วนชุดที่สองก็จะดูให้ครอบคลุม นอกจากนี้ จะประสานกับเอกชนเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลในภาคประชาชนด้วย ซึ่งประชาชนสามารถส่งข้อมูลให้ได้"

นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า "ส่วนเรื่องวิธีการเตือนภัย เราจะมีการบอกตั้งแต่ต้น เป็นระบบ เป็นจังหวะ จะบอกทุกจุดที่สำคัญ ขออย่างเดียวขอให้ประชาชนกรุณาติดตาม และกรุณาเชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีระบบ ซิงเกิล คอมมานด์ ซึ่งทุกอย่างจะมารวมการสั่งการที่จุดเดียว มั่นใจไม่มาหลายทางเหมือนปีก่อน อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ได้มีอำนาจทำอะไรได้ตามอำเภอใจได้ ทุกอย่างมีระบบ มีขบวนการทางวิชาการ ซึ่งเรามีหน่วยงาน 19 หน่วยงาน ตนก็ดูแลอยู่ แต่ตอนนี้ยังไม่วิกฤติ ก็มีการสั่งการตามปกติ แตกต่างจากเมื่อก่อน ที่ต้องผ่านหลายหน่วยงาน แต่ตอนนี้ไปหน่วยปฏิบัติเลย ซึ่งหากเกิดวิกฤติจริง ท่านนายกฯ อาจจะลงมาช่วย"

"มั่นใจว่าน้ำไม่ท่วม กทม. หากท่วมจริงก็ต้องบริหารร่วมกัน ซึ่งเราจะสั่ง กทม.เลยว่าต้องเปิดประตูน้ำไหนเปิด ประตูไหนปิด ซึ่งเราสามารถสั่ง กทม.ได้ และต้องทำด้วย หากไม่ทำติดคุก เพราะเป็นอำนาจทางกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเราได้บทเรียนมาแล้วว่าการไม่ฟังกัน ต่างคนต่างคิด แล้วประชาชนประเทศชาติเสียหาย ยืนยันเลยว่าจะไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมันเป็นเรื่องความอยู่รอดของประเทศชาติ" ประธาน กบอ. กล่าว

นายปลอดประสพ กล่าวถึงเรื่องฟลัดเวย์ว่า เราได้เลือกพื้นที่แล้วว่าจะให้น้ำอยู่ หรือน้ำผ่าน รวมกันประมาณ 2 ล้านไร่ ในพื้นที่ 2 ล้านไร่นี้ มีพื้นที่ที่น้ำท่วมแน่ๆ ประมาณ 1.2-1.3 ล้านไร่ โดยน้ำจะเข้า-ออกเป็นปกติ ค่าชดเชยเยียวยาก็จะไม่มีให้ เพราะมันเป็นปกติ ส่วนอีก 8 แสนไร่ ที่ไม่ปกติ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชลประทานเหมือนกัน ถ้าท่วมเข้ามาเราอาจจะต้องมีการเยียวยา

ส่วนเรื่องการสร้างประตูน้ำ ประธาน กบอ. กล่าวว่า ในปลายเดือนนี้ โครงการของต้นน้ำจะต้องสร้างเสร็จ มิ.ย. โครงการของกลางน้ำต้องเสร็จ และ ก.ค.โครงการของปลายน้ำต้องเสร็จ ซึ่งโครงการเฉพาะหน้าเสร็จทันแน่นอน ส่วนโครงการระยะยาว ก็มีการดำเนินการไป เรื่อง เครื่องสูบน้ำ เครื่องดันน้ำ ปีนี้มีความพร้อมทั้งของราชการและเอกชน ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้เครื่องดันน้ำ เพราะ กทม.เป็นที่ต่ำ จึงจำเป็นต้องมี

"หากเกิดเหตุเภทภัย เราจะขอความช่วยเหลือจากทหาร และ พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ขณะนี้ เรากำลังทำอาคารเก็บเครื่องมือที่จำเป็น เพื่อที่จะพร้อมใช้ พร้อมหาข้อมูลเครื่องใช้ของภาคประชาชน ซึ่งหากจำเป็นต้องใช้เราจะขอความร่วมมือต่อไป" ประธาน กบอ. กล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น