วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

"ทักษิณ" ติง ร่างฯรัฐธรรมนูญ ไม่เอื้อเศรษฐกิจ เปิดช่องอำนาจแทรกแซงฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ


10 มีนาคม 2559 สถาบันนโยบายโลก (World Policy Institute) ได้เชิญ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เข้าร่วมเสวนา "Thaksin Shinawatra in Private Discussion" ที่นครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ เมื่อเวลา 05.20น. ที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย

ดร.ทักษิณ ชินวัตร ระบุว่า ร่างฯรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของไทย จะไม่สามารถวางโครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งเสริมให้มีการลงทุน การผลิต และความร่วมมือระหว่างไทยกับต่างประเทศได้ เนื่องจากอาจเปิดช่องให้มีการแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหาร และ นิติบัญญัติ โดยอำนาจพิเศษของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และฝ่ายตุลาการ


ดร.ทักษิณ ชินวัตร ระบุว่า “เมื่อพิจารณาถึงเค้าโครงของร่างฯรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันคงเป็นไปได้ยากที่จะได้มาซึ่งรัฐบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและความท้าทายในศตวรษที่ 21 ในร่างฯรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ถูกแต่งตั้งจำนวน 200 คน วุฒิสภาจะมีอำนาจมากยิ่งขึ้นในการยับยั้งการออกพระราชบัญญัติต่างๆ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีขอบเขตอำนาจในการตัดสินคดีที่มากยิ่งขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยคดี เมื่อมีบุคคลใดก็ตามได้ดำเนินการร้องเรียน”  


“หากพวกเราคิดว่าหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย คือ รากฐานเพื่อการสร้างความเจริญเติบโตและเสถียรภาพของประเทศ หัวข้อสำคัญที่พวกเราต้องพิจารณาคงเป็นเรื่องที่ว่า อำนาจตุลาการจะล่วงล้ำอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารหรือไม่ เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารเศรษฐกิจของประเทศในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว ผมหวังว่าคงจะไม่มีการใช้อำนาจตุลาการที่เกินกว่าความจำเป็นอีกในอนาคต กรณีศึกษาในประเทศต่างๆ ได้แสดงให้พวกเราเห็นว่า การใช้อำนาจพิจารณาทบทวนโดยศาล โดยไม่ได้มีการถ่วงดุลและตรวจสอบ อาจกลายเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ เหมาะสมและเป็น ยุทธวิธีเตะถ่วงงาน จนสุดท้ายก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ” ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าว


1 ความคิดเห็น:

  1. คนไทยส่วนใหญ่ต้องอยู่แบบอดทนไม่ต่างกับต้นหญ้าที่อยู่ใต้เท้าของผู้มีอํานาจให้ผิดก็ต้องผิด ประชาชนมีปากเป็นอาวุธส่วนผู้มีอํานาจมีอาวุธเป็นเครื่องมิอ

    ตอบลบ