วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

"พันศักดิ์" ยืนยันจำนำข้าวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ


“พันศักดิ์” ระบุ นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องจำเป็นของทุกรัฐบาล ไม่ต่างจาก จำนำข้าว ท่ี่ใช้เป็นมาตรการ อุ้มเศรษฐกิจในประเทศ "ย้ำ" การใช้งบฯความคุ้มค่าไม่อยู่ท่ี่กำไรขาดทุน ไม่เช่นนั้น การใช้จ่ายเพื่อความมั่นคง ไม่สามารถดำเนินการได้

วันนี้ (9 ธันวาคม 2559) นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ได้ให้การต่อองค์คณะผู้พิพากษา ณ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า  เศรษฐกิจโลกในช่วง 7-8 ปีท่ี่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีความผันผวนสูง และไทยพึ่งการส่งออกกว่า 60% เมื่อ จีดีพี ของประเทศผูกอยู่กับการส่งออก และเกิดความผันผวน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศท่ี่เหลือก็ต้องจำเป็นประคับประคองให้อยู่ในระดับที่ไม่ให้เกิดผลกระทบ ดังนั้นรัฐบาลทุกรัฐบาลก็ต้องทำเช่นนี้

โครงการรับจำนำข้าวจึงเป็นนโยบายที่จำเป็นในขณะนั้นเพื่อหิ้วระบบเศรษฐกิจภายในประเทศไม่ให้ล้ม ถือเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและให้เกิดการสร้างสินทรัพย์ใหม่ หรือการลงทุน ทั้งภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ ประชาชนมีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และย้อนกลับมาเป็นภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่ม ตลอดช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี การบริโภคในประเทศเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตมาก ก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบต่อเนื่อง เป็นการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อประชาชนในชนบท ที่ส่งผลดีต่อประชาชนในเมืองอีกด้วย

นายพันศักดิ์ตอบคำถามอัยการกรณีรายงานธนาคารโลกว่าเป็นรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ใช่คำเตือนต่อรัฐบาล ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นความเสียหายในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว แต่เป็นค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และธนาคารโลกยังได้รายงานอีกว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลจะส่งผลให้เกิดการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศอีกด้วย

นายพันศักดิ์ยังได้กล่าวต่ออัยการถึงกรณีหนี้สาธารณะของประเทศอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลลงทุนลงไปจะพิจารณาความคุ้มค่าโครงการจากหนี้สาธารณะไม่ได้ แต่ต้องดูที่สถานะของประเทศทางด้านอื่นๆด้วยตั้งแต่ การจัดเก็บภาษี เงินออมของประชาชน เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ การลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ การขึ้นลงของค่าเงินบาท รวมไปถึงการบริหารหนี้สาธารณะว่าอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังหรือไม่ ยกตัวอย่างหนี้สาธารณะที่เกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้ง 1.1 ล้านล้านบาท รัฐบาลในขณะนั้นก็ยังสามารถบริหารได้ นอกจากนั้นด้วยสภาพคล่องที่ดีจนล้นเกินในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการนำเงินบางหลายแสนล้านบาทไปฝากกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อกินดอกเบี้ยข้ามคืน สะท้อนว่าเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวดีมาก

นอกจากนี้นายพันศักดิ์ยังได้ระบุ “การใช้จ่ายของรัฐบาลทุกบัญชีมีเหตุผล เช่นการใช้จ่ายเพื่อคงไว้ซึ่งความสงบทำให้บ้านเมืองมีความน่าเชื่อถือก็ไม่สามารถระบุได้ว่าจะได้เงินกลับคืนมาเท่าไรเช่นกัน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น