วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

บทเรียนนั่งกระบะท้าย! "จิรายุ" สอน "ประยุทธ์" ศึกษาข้อมูลก่อนสั่งม.44


นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย และอดีตผู้สื่อข่าวสายอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ มาตรา 44 บังคับให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกคนที่นั่งอยู่บนรถว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา เป็นวันที่โกลาหลในแอพพลิเคชั่น LINE และ Facebook มากที่สุด เพราะ  เป็นวันที่ตนได้รับแต่รูปภาพแปลกๆ เช่น รถตัดกระบะท้าย , ตำรวจจับผู้ต้องหานั่งด้านท้าย , รถบรรทุกทหารที่มีทหารนั่งเต็มกระบะท้าย แม้กระทั่งคลิปที่มีผู้ชมเป็นล้านๆที่จับลูกใส่ลังและไปนั่งที่แคปของรถปิกอัพ รวมทั้งเสียงร้องของชาวบ้านตาดำๆที่ยากจนในถิ่นทุรกันดารที่ไม่มีรถประจำตำแหน่ง แต่ยังต้องใช้รถคนยากจนในหมู่บ้านออกไปทำไร่ทำนา
   
จนกระทั่ง ผู้นำ คสช. ยอมถอยเลื่อนบังคับใช้ไปก่อนนั้น ในมุมมองของตนถือเป็นเรื่องดีในเรื่องความปลอดภัย แต่แปลกใจที่ออกมาตรา 44 มาเรื่องนี้ เพราะก็มีกฎหมายบังคับใช้อยู่แล้ว ที่สำคัญเมืองไทยยังต้องใช้เวลา และควรประกาศกำหนดเวลา เพื่อให้ประชาชน ผู้ประกอบการ หรือบริการสาธารณะ เช่น ขสมก. และ บขส. ได้มีการเตรียมความพร้อม เพราะรถยนต์ทุกวันนี้มีหลายประเภท แต่คำสั่งมาตรา 44 ระบุว่าเป็น "รถยนต์" นั่นหมายความรวมถึงรถเก๋งส่วนบุคคล , รถแท็กซี่ , รถเมล์ , รถ บขส. , รถสองแถวเล็ก และรถสองแถวใหญ่

เรื่องแบบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไปเรียกพวกขุนเสนอปีชงที่ชอบชงเรื่องที่มองโลกสวยมาจัดการ  เพราะส่วนใหญ่พวกนี้เรียนจบเมืองนอก บ้านรวยมีสตางค์ซื้อตั๋วเครื่องบิน และไม่เคยลิ้มรสการนั่งกระบะกลับบ้านในช่วงเทศกาลแบบคนจน
   
และที่สำคัญ ถ้าหากรัฐบาลสร้างระบบขนส่งและการคมนาคมอย่างมอเตอร์เวย์ หรือรถไฟความเร็วสูง หรือการคมนาคมทางอื่นๆ ตนเชื่อว่าจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนจนในประเทศ ถึงวันนั้นก็จะไม่มีใครไปนั่งกระบะท้ายให้หัวไหม้แน่นอน และที่สำคัญประเทศไทยมียอดขายรถปิกอัพเป็นอันดับ 1 และพฤติกรรมการใช้รถก็อย่างที่รู้ๆกันอยู่ จึงฝากคำถามไว้ว่า

1. กรณีรถเก๋งตามทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งแบบ 7 ที่นั่ง ถ้านั่งไป 5 คน แต่เข็มขัดนิรภัยมีแค่ 4 ที่นั่ง ใครจะรับผิดชอบค่าปรับ? ถ้ายังงั้นต้องไปแก้ไขเป็นรถยนต์นั่งแบบ 4 ที่นั่ง หรือไม่ก็ต้องให้บริษัทรถยนต์ทำเข็มขัดนิรภัยแบบ 7 ที่นั่ง ซึ่งก็ควรประกาศขอบเขตของเวลา

2. ไม่ทราบว่าคนชงเรื่องนี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เซ็น เคยนั่งรถสองแถวซึ่งยังมีอยู่มากมายทั่วประเทศหรือไม่? อย่าคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วแบบยุโรปเหมือนที่ไปดูงานกันมา เพราะมาตรา 44 ที่สั่งมานี้ย่อมหมายความรวมถึงผู้นั่งบนรถสองแถวด้วย ซึ่งตนยังมองไม่ออกว่าจะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างไร? หรือว่าจะยกเลิกรถสองแถวทั่วประเทศไปเลย

3. รถเมล์ขนส่งมวลชนซึ่งปัจจุบันไม่มีเข็มขัดนิรภัยให้กับผู้โดยสารเลย ข้อบังคับนี้ก็ต้องบังคับด้วย หมายความว่าผู้โดยสารทุกคนก็ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วยใช่หรือไม่? หรือต่อไปนี้ห้ามยืน นอกจากนี้แล้วจะต้องเสียเงินเพิ่มในการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเก้าอี้นั่งด้วยเงินเท่าไหร่? อีกทั้งผู้โดยสารแบบยืนจะทำอย่างไร? ราคาค่าโดยสารจะต้องเพิ่มขึ้นขนาดไหน?

4. รถปิกอัพและชาวบ้านในชนบทจะหาทางออกให้เขาอย่างไร?

5. รถปิกอัพของทางราชการจะถูกตั้งข้อหาละเว้นหรือไม่?

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า เรื่องแบบนี้ไม่ต้องถึงขั้นมาตรา 44 แค่ พล.อ.ประยุทธ์ มีแนวคิดแบบนี้ออกมาศึกษาความเป็นจริงในสังคมไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น