วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2560

"เพื่อไทย" แนะรัฐใช้ประชานิยมแก้ปัญหาเศรษฐกิจ


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้ไปร่วมอภิปรายทางวิชาการในหัวข้อ "นโยบายประชานิยมกับการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองไทย" ซึ่งจัดโดย กกต. ในหลักสูตร พตส. 8 ณ สำนักงาน กกต.
     
นายชวลิต กล่าวว่า บรรยากาศการอภิปรายเป็นบรรยากาศทางวิชาการ จึงไม่มีลักษณะของการโต้วาที หรือแสดงความเห็นขัดแย้งทางการเมือง สิ่งที่เห็นตรงกันก็คือ ปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนมีช่องว่างห่างกันมากขึ้นๆ ยิ่งโฆษก ศธ. ออกมาให้ข้อเท็จจริงว่า ผลการวิเคราะห์คะแนน O-NET สะท้อนว่า คนรวยมีคะแนน O-NET สูง คนจนมีคะแนน O-NET ต่ำ โดยยกตัวอย่าง กทม. ชลบุรี ภูเก็ต มีคะแนน O-NET สูง และกาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู กับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคะแนน O-NET ต่ำ เท่ากับตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในทุกด้าน
     
นายชวลิต กล่าวว่า ได้แสดงความเห็นส่วนตัวไปว่า ปัญหาของประเทศมีมากมาย การจะแก้ไขปัญหาซึ่งมีมากมายดังกล่าวให้ลุล่วง ต้องหาหัวใจของปัญหาให้ได้ เมื่อแก้หัวใจของปัญหาได้แล้ว ปัญหาอื่นเป็นปัญหารอง ซึ่งก็จะค่อยๆคลี่คลายไป ตนเห็นว่า หัวใจของปัญหาในขณะนี้ คือ ระบบการเมืองการปกครอง ที่เป็นระบบอำนาจนิยม ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าเป็นอุปสรรคในการปฏิสัมพันธ์กับชาวโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา และ EU จึงไม่แปลกใจทำไมไทยถึงมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ มา 2 ปีติดกัน นับจากระบบอำนาจนิยมเข้ามาบริหารประเทศ
       
จากการสำรวจของโพลล์ทุกสำนักให้ความเห็นตรงกันหมดว่า ประชาชนเป็นห่วงปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของเขามากที่สุด แต่ตามหน้าสื่อไม่มีเรื่องที่จะเป็นความหวังต่อการแก้ปัญหาปากท้องของเขา มีแต่ข่าวการแย่งชิงเค้กบรรษัทน้ำมัน ฯลฯ ไร้ทิศทาง มองไม่เห็นอนาคตที่จะฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของคนยากคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นฐานรากอยู่ลำบาก ก็จะกระเทือนไปถึงทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบถ้วนทั่ว
       
นายชวลิต ให้ความเห็นว่า ระหว่างประชานิยมกับอำนาจนิยม ตนเชื่อมั่นในประชานิยมภายใต้เงื่อนไขประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและต่อเนื่อง เพราะประชาชนจะใช้อำนาจของเขาในการคัดนักการเมืองที่ไม่ดี ไม่มีคุณภาพออกไปจากระบบด้วยมือของเขาเอง แต่ประเทศไทยประชาชนไม่มีโอกาสในการคัดเลือกนักการเมือง พรรคการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพราะ 84 ปีที่ผ่านมามีการรัฐประหารถึง 13 ครั้ง กบฎ 11 ครั้ง มีเวลาเปิดเวทีให้ฝ่ายประชาธิปไตยน้อยยิ่งกว่าน้อย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการเมืองการปกครองอย่างจริงจัง เพื่อก้าวข้ามกับดักที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วเหมือนบ้านอื่นเมืองอื่น หาไม่เช่นนั้นประเทศไทยอาจจะกลายเป็นผู้ป่วยแห่งเอเซีย หากตั้งอยู่ในความประมาท โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่บริหารประเทศ ต้องเป็นผู้ใหญ่ที่มิใช่ใช้แต่เพียงหลักนิติศาสตร์และหลักรัฐศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศเท่านั้น แต่ควรใช้คุณธรรมทางศาสนามาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองด้วย
     
นายชวลิต ได้ยกตัวอย่างในการประชุมคณะกรรมาธิการคณะหนึ่งในปลายรัฐบาลที่ผ่านมาว่า ประธานหอการค้าญี่ปุ่นได้กล่าวว่าประเทศไทยดีพร้อมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นประขาชนที่มีน้ำใจไมตรี มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีวัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม ฯลฯ แต่เสียอยู่อย่างเดียวและเป็นเรื่องสำคัญหรือเรื่องหลักของการลงทุน คือ "การเมืองไม่มีเสถียรภาพ" ซึ่งถ้ายังเป็นเช่นนี้ นักลงทุนก็คงต้องชะลอการลงทุน และถ้าเลวร้ายอาจถึงขั้นย้ายฐานการลงทุน
       
"ข้อเท็จจริงปัจจุบันนี้ นักลงทุนหันไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านมากมาย แต่เรายังไม่รู้สึก ยังทำตัวเหมือนไก่อยู่ในเล้า จิกตีกันเอง ขอให้กำลังใจทุกภาคส่วน หันหน้ามาร่วมมือกัน อย่าเพียงแต่พูด ขอให้ปฏิบัติจริงให้ได้ จะเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศและอนุชนรุ่นหลังที่จะมารับช่วงต่อ" นายชวลิตกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น