วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560

"จิรายุ" ห่วงประชาชนถูกปิดกั้นข่าวสาร-ติงรัฐตีตราสื่อ


นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตผู้สื่อข่าว กล่าวถึงกรณีที่ สปท. จะออกกฎหมายควบคุมสื่อนั้น ตนขอบอกว่า ถ้า สปท. ว่างมาก หรือกลัวประชาชนจะหาว่ากินเงินเดือนภาษีประชาชน กินเบี้ยประชุมแล้วไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนั้น ตนว่าน่าจะไปออกกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีการรับรู้การทำงานของรัฐบาลมากกว่า เช่น กฎหมายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลกรณีใช้งบประมาณเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ประชาชนควรมีสิทธิ์รู้ข้อมูลข่าวสารนั้นๆ

ส่วนใน พ.ร.บ. ที่บอกว่าคณะกรรมการจะมาจากปลัดกระทรวงต่างๆ จะเอามาตรฐานอะไรไปตัดสินว่านักข่าวนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร? หรือว่างานปลัดกระทรวงน้อยเกินไป ถ้าน้อยก็ควรจะยุบตำแหน่งปลัดกระทรวงไปเสีย

ที่ผ่านมาตนเรียนวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมา ถูกพร่ำสอนเสมอว่าความน่าเชื่อถือมาจากจริยธรรมจรรยาบรรณ วันหนึ่งสื่อที่เอียงกระเท่เร่เหล่านั้นก็จะหายและตายไปเอง ประชาชนเขาฉลาดไปไกลแล้ว

วันนี้ สปท. อย่าไปกลัวเสียฟอร์มว่าที่ผ่านมาไม่ค่อยมีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากข่าวตบหัวเด็กเสิร์ฟ ยังมีสิ่งสำคัญที่ สปท. สามารถปฏิรูปประเทศได้ เช่น กฎหมายว่าด้วยการเคารพกติกาทางการเมือง การยอมรับความเป็นจริงในสังคม แพ้เลือกตั้งก็เคารพกติกา ห้ามเล่นนอกสภา อย่างนี้รับรองปฏิรูปประเทศได้แน่

ส่วนที่ สปท. บางคนช่างพูด โดยระบุว่าขนาดอาชีพหมอนวดยังต้องขึ้นทะเบียน ทำไมสื่อจะถูกขึ้นบ้างไม่ได้ คนพูดเช่นนี้เหมือนดูถูกเหยียดหยาม สื่อที่ทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน น่าจะไปหาข่าวดูบ้างว่าคนที่พูดเช่นนี้โปร่งใสขนาดไหน?

การออกกฎหมายกดหัวสื่อฉบับนี้ ต่างกับใบประกอบวิชาชีพอื่นๆอย่างสิ้นเชิง เช่น วิศวกรก็ต้องมีความรู้เรื่องวิศวกร หมอก็ต้องรู้เรื่องหมอ ส่วนสื่อมวลชนเป็นศาสตร์ที่ไม่ใช่ทางใดทางหนึ่งเช่นทางวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ หรือไสยศาสตร์ เป็นงานที่ผสมผสานกัน เป็นศิลปะที่ถูกเรียกว่า "ฐานันดร 4" คนจะมาออกใบอนุญาตจะรู้เรื่องอะไรกับการทำอาชีพสื่อสารมวลชน ถ้าตนอยู่ในคณะกรรมาธิการชุดนี้ ตนจะยกมือประท้วงตลอด รับรองไม่ได้ผ่านแน่นอน

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับกฎหมายฉบับนี้ เพราะที่ผ่านมาสื่อมวลชนเป็นอิสระ ก็ย่อมตอบทั่วโลกได้ว่าประเทศไทยมีเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือของประเทศ ย่อมเป็นตัวแทนให้กับประชาชนได้ เพราะเห็นได้จากสื่อมวลชนที่ไม่มีจริยธรรมจรรยาบรรณ พาดหัวข่าวแบบสาดเสียเทเสีย วันนี้ยอดขายก็เหมือนพิมพ์มาทำถุงกล้วยแขกเท่านั้น หลายสื่อประชาชนก็ตัดสินไปแล้ว

การขึ้นทะเบียนสื่อนั้น วันนี้ก็มีกรมประชาสัมพันธ์ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนสื่อมวลชนอยู่แล้ว ก็ให้กรมประชาสัมพันธ์ทำเหมือนเดิม โดยเป็นผู้ออกบัตรสื่อมวลชนที่สำนักสื่อสารมวลชนต่างๆรับรองกันเอง หรือจะให้สมาคมสื่อรับรองเท่านี้ก็ชัดเจน และให้ใช้บัตรนี้เป็นบัตรมาตรฐานสากลทั่วประเทศไทย

ส่วนกรณีที่ สปท. ระบุว่าต้องการตีทะเบียนสื่อ เพื่อป้องกันคนไม่ดีแฝงมาในคราบสื่อ ตนยิ่งไม่เห็นด้วย เพราะหากกฎหมายนี้บังคับใช้ อยากจะถามว่าคนที่มีใบอนุญาตสื่อ ถ้านิสัยไม่ดี ไม่มีจริยธรรมจรรยาบรรณ ออกกฎหมายมาก็สูญเปล่า แถมเป็นการฟอกขาวให้อีกด้วยซ้ำ

"ทุกวันนี้ ไม่จำเป็นต้องอาชีพสื่อมวลชนที่ต้องตีทะเบียน อาชีพที่มีบัตรราชการ บัตรรัฐมนตรี บัตรองค์กรอิสระ ประพฤติเลว ทุจริตคอรัปชั่น เล่นพวกพ้อง มือถือสาก ปากถือศีล ก็มีให้เห็นเยอะแยะไป"

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า สื่อบางแห่งที่ร่วมเป่านกหวีดโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตย มาวันนี้ได้สัมผัสลิ้มรสคำว่าเผด็จการกันบ้างแล้ว ทั้งๆที่แต่ก่อนอวยได้ทุกวัน วันนี้ก็เปิดหน้าออกมาจัดชุดใหญ่

ส่วนทางออกเรื่องนี้นั้น อยากให้สมาคมที่เกี่ยวข้องกับสื่อทุกสมาคม มีความแข็งแรงและมั่นคงในจุดยืนของคำว่า "ฐานันดร 4" ควรร่วมจัดตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อชี้หรือตักเตือนหรือลงโทษตามแบบฉบับของสื่อ ส่วนสื่อที่ไม่มีจริยธรรมจรรยาบรรณทำผิดจริง ก็ขอให้กล้าลงโทษ และประกาศต่อสังคมให้รับรู้ เช่น การพาดหัวข่าวแบบมีอคติ หรือผู้ประกาศข่าว นักจัดรายการที่ใส่อารมณ์ผสมข่าว ควรตักเตือนหรือลงโทษคนเหล่านี้มากกว่า และควรจะถูกกลุ่มสมาคมต่างๆรุมประณามโดยไม่ต้องให้รัฐบาลไหนมาออกกฎหมายกดหัวไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น