วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560

อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ'40 หนุนเปิดช่องประชาชนวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ


นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. ปี 2540 ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว กรณีที่ สนช. รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลักการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งจำคุกบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ ฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นเวลาหนึ่งเดือน ว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะเท่ากับเป็นการปิดปากประชาชนและนักวิชาการที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย

นายคณิน กล่าวว่า เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และทุกองค์กรของรัฐ ที่มีอยู่ในประเทศไทย แม้แต่คำพิพากษาศาลฎีกา ก็ยังจะขัดหรือแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ นอกจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจ ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรมหรือไม่ด้วย ซึ่งเท่ากับว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจควบคุมพฤติกรรมการใช้อํานาจอธิปไตยทั้งสามฝ่าย รวมทั้งองค์กรอิสระ นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการตรวจสอบ ถ่วงดุล และควบคุม การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะกลายเป็น “การใช้อำนาจตามอำเภอใจ” และการใช้อำนาจตามอำเภอใจนั่นแหละ คือรากเหง้า ต้นตอของการทุจริตคอรัปชั่น และความชั่วร้ายทั้งปวง ที่เกิดขึ้นในสังคม

นายคณิน กล่าวต่อว่า ความจริงศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าจะต้องเดือดร้อนในข้อที่ว่า จะถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีอย่างเสียๆหายๆ เพราะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหมิ่นประมาท ในฐานะบุคคลอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งต้องนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาอยู่แล้ว ก็ไม่เห็นจะต้องไปเอาผิดถึงขนาดสั่งจำคุกเป็นเวลาหนึ่งเดือนดังกล่าว จริงอยู่ร่างกฎหมายอาจจะเปิดช่องไว้สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตและเป็นไปตามหลักวิชาการ ก็ไม่มีความผิด แต่ก็นั่นแหละ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะใช้ดุลพินิจและสั่งลงโทษ อันเป็น ที่สิ้นสุดเด็ดขาด โดยไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา แล้วอย่างนี้ใครจะกล้าวิพากษ์วิจารณ์?

นายคณิน ยังกล่าวด้วยว่า ถ้าห้ามวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล โดยมีโทษจำคุกรออยู่นั้น จะก่อให้เกิดผลเสียอย่างน้อยสามประการ ดังนี้

1. มีผลเป็นการปิดปากประชาชนและนักวิชาการ ในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น เพราะจะไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ ถึงแม้จะแน่ใจว่าทำไปด้วยความสุจริตและเป็นไปตามหลักวิชาการก็ตาม

2. มีผลเป็นการปิดกั้นการพัฒนาส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการของคณะนิติศาสตร์ ภาคกฎหมายมหาชน ให้มีความเจริญก้าวหน้าและสอดคล้องกับหลักนิติธรรมสากล เพราะไม่มีอาจารย์และนักศึกษาผู้ใดกล้าที่จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาวิเคราะห์วิจารณ์ ทำรายงานหรือทำวิจัย อันเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่ความเป็นเลิศในทางวิชาการของสาขาวิชาดังกล่าว องค์กรหรือบุคคล ที่จะสนับสนุนการวิจัย ต่างก็จะลังเลและหวาดกลัว เมื่อได้เห็นหัวข้อและเนื้อหาที่เสนอขอรับ การสนับสนุน

3. ศาลรัฐธรรมนูญเองต้องไม่ลืมว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นต่างกับคำพิพากษาศาลอาญา ศาลแพ่ง หรือแม้แต่ศาลปกครอง ตรงที่ว่า คำพิพากษาของศาลดังกล่าวส่งผลกระทบต่อ “ปัจเจกบุคคล” ในวงจำกัด แต่กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ส่งผลกระทบต่อ “มหาชน” ในวงกว้าง ยกตัวอย่างเช่น การสั่งยุบพรรคการเมืองเพราะการกระทำความผิดของคณะกรรมการบริหารเพียงไม่กี่คน แต่มีผลทำให้สมาชิกพรรคซึ่งอาจมีเป็นล้านคนต้องสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามไปด้วยโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลย แล้วจะไม่ให้เขารู้สึกเดือดร้อนเพราะถูกทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมืองบ้างเลยหรือ? หรืออย่างการที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้บุคคลระดับนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมีผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย จนเป็นผลให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างกว้างขวางพูดง่ายๆ ให้คนเพียงไม่กี่คนซึ่งเป็นองค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ แล้วอย่างนี้จะไม่ยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความไม่เห็นด้วย บ้างเลยหรือ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น