วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

"คณิน" ติงสัญญาณเลื่อนเลือกตั้ง กระทบความเชื่อมั่นประเทศ


นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภา ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว กรณีที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในทำนองเดียวกันว่า กำหนดการเลือกตั้งยังไม่สามารถระบุได้แน่นอน ว่าจะเป็นปลายปี 2561 หรือปี 2562 เพราะอาจมี "อุบัติเหตุ" และ "ตัวแปร" เกิดขึ้นได้หลายอย่างนั้น ว่า "ตนไม่แน่ใจว่าทั้งสองท่านกำลังส่งสัญญาณอะไรหรือไม่? ทั้งนี้ ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามไทม์ไลน์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 267 และ 268 อย่างเคร่งครัดแล้ว คำว่า "อุบัติเหตุ" หรือ "ตัวแปร" ที่จะทำให้กำหนดการเลือกตั้งถูกลากยาวไปถึงปลายปี 2561 หรือแม้แต่ต้นปี 2562 ย่อมไม่มีแน่นอน แต่ถ้ามันมีและเกิดขึ้นจริง แสดงว่าไม่ใช่ปัจจัยภายในรัฐธรรมนูญแน่นอน แต่เป็นปัจจัยภายนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีผู้ใด หรือแม้แต่ คสช. จะสามารถกำหนดหรือควบคุมได้ และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง อย่าว่าแต่กำหนดการเลือกตั้งเลยที่จะต้องเลื่อนออกไป แม้แต่การเลือกตั้งก็อาจไม่มีเลยก็เป็นไปได้ ซึ่งก็คงไม่มีใครคาดเดาได้ว่าหลังจากนั้นอะไรจะเกิดขึ้น หรืออาจจะทำแบบที่นายมีชัยเคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่า "ตัวใครตัวมัน" ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหมายความว่าอย่างไร? อย่างไรก็ดี ตนหวังว่าเหตุการณ์บ้านเมืองจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถ้ากำหนดการเลือกตั้งถูกเลื่อนและลากยาวไปเรื่อยๆ หรือถึงขนาดไม่มีเลือกตั้งเลย แสดงว่าบ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย จนจับต้นชนปลายไม่ถูก ประชาชนสับสน ต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น อันเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้ง่ายๆ"

นายคณิน กล่าวต่อไปว่า "ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 267 และ 268 อย่างเคร่งครัด และถึงแม้ว่า กรธ. , สนช. รวมทั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย จะใช้เวลาเต็มที่ตามพิกัดกล่าวคือ 240 + 60 + 25 (ประมาณ 11 เดือนนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ) ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมดก็จะแล้วเสร็จ พร้อมที่จะนำขึ้นทูลเกล้าถวายในไม่เกินวันที่ 5 มีนาคม 2561 ส่วนกรณีที่นายวิษณุเคยอ้างว่า หลังนำขึ้นทูลเกล้าแล้วอาจต้องรออีก 90 วัน ตามพระราชอำนาจนั้นก็ไม่น่าจะต้องรอนานถึงขนาดนั้น เพราะถ้าดูตาม พ.ร.ป. 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.คณะกรรมการเลือกตั้ง และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ก็มีการประกาศใช้บังคับเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ สนช. พิจารณาเสร็จแล้ว ดังนั้น ร่าง พ.ร.ป. อีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ที่มาของ ส.ว. จึงไม่น่าที่จะแตกต่างกัน สรุปแล้ว ร่าง พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ก็น่าจะประกาศใช้บังคับได้ครบทั้ง 4 อย่างช้าสุด ก็คงไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2561 และการเลือกตั้งก็ควรจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2561 ซึ่งหมายความว่า กำหนดวันเลือกตั้งก็ไม่ควรจะเกินไปจากวันที่ 31 กรกฎาคม ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกตั้งแล้วเสร็จ คือประกาศผลเรียบร้อยภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2561 ดังกล่าว ดังนั้น จึงนึกไม่ออกเลยว่า การเลือกตั้งจะถูกลากยาวไปถึงปลายปี 2561 หรือปี 2562 ตามกระแสข่าวได้อย่างไร?"

นายคณิน ยังได้กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัยเคยพูดไว้ว่าอาจเกิดอุบัติเหตุ ถ้า สนช. คว่ำร่าง พ.ร.ป. และหลังจากนั้นก็ "ตัวใครตัวมัน" เพราะ กรธ. หมดหน้าที่แล้ว ว่า "ถ้าเกิดกรณีคว่ำร่างโดย สนช. จริงแสดงว่า มันไม่ใช่ "อุบัติเหตุ" แล้ว แต่เป็นการ "จงใจ" มากกว่า ทั้งนี้ เพราะการที่ สนช. ซึ่งตั้งโดย คสช. จะลงมติคว่ำ ร่าง พ.ร.ป. ซึ่งกรรมาธิการ 3 ฝ่ายพิจารณาเสนอด้วยคะแนนเสียงเกินกว่า 2 ใน 3 ย่อมไม่ใช่อุบัติเหตุแน่นอน แต่เป็นการ "จงใจ" มากกว่า เพราะสิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้น คือ "สูญญากาศทางการเมือง" ซึ่งเป็นปัจจัยนอกรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่มีผู้ใด "จงใจ" ให้เกิด "สูญญากาศทางการเมือง" ดังกล่าว เพราะนอกจากจะไม่เกิดผลดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชนแล้ว ยังอาจกลายเป็นบูมเมอแรงกระดอนกลับไปหากลุ่มอำนาจที่จงใจก่อให้เกิดเหตุการณ์เช่นว่านั้น อย่างชนิดที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้ อีกด้วย"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น