วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

"เรืองไกร" ยื่นสอบ ประยุทธ์-ครม. ตั้ง 9 สนช. นั่งคกก.ปฏิรูปประเทศ


นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องกกต.สอบ 9 สนช. นั่งคกก.ปฏิรูปประเทศ เข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่งผลให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเฉพาะตัว พ่วงนายกฯ-ครม. รับผิดชอบ ฐานใช้ตำแหน่งหน้าที่ก้าวก่ายแทรกแซงบรรจุแต่งตั้ง เร่งส่งศาลรธน.วินิจฉัย

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.ผ่าน ส.ต.อ.นวัต บุญศรี ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย สำนักกฎหมาย สำนักงานกกต. ขอให้ตรวจสอบ และเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ให้ความเป็นสมาชิกสนช. และความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดเฉพาะตัว กรณี 9 สมาชิก สนช.ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูประเทศ เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคสอง ทำให้ความเป็นสนช.สิ้นสุดลง เฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101( 7) หรือไม่ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ที่แต่งตั้งการกระทำเข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามมาตรา 186 วรรคสอง เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)

โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้สนช. ไปรับหรือดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร ขณะเดียวกัน ก็มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 10/2551 ที่วินิจฉัยวางหลักกฎหมายตามหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยไว้ซึ่งกลายเป็นบทบัญญัติใน มาตรา 265 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ว่า ส.ส.หรือส.ว. ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ ไม่รับเงิน หรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ ซึ่งเมื่อตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีกลับพบว่า มีการตั้ง สนช.ร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ รวม 9 คน คือ มติครม.วันที่ 4 ก.ค. ตั้ง 1. พล.อ. บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ 2. พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ 3. พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ 4. นายมนุชญ์ วัฒนโกมร 5. พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ 6. พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)
และมติครม.วันที่ 15 ส.ค. มีการตั้ง 7. นายอิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ 8. นายภิรมย์ กมลรัตนกุล เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และ 9. นายกล้านรงค์ จันทิก เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งหมดไปร่วมประชุมเสนอแนวทางการปฏิรูป ที่ต่อมาอาจจะต้องนำไปสู่การตรากฎหมายที่ต้องมาผ่านการพิจารณาของสนช. มีการรับเบี้ยประชุมต่างๆ การกระทำจึงเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

"ผมไม่จ้องจะร้องทำลายสนช. แต่เป็นการว่าตามกฎหมาย อย่างนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นสนช.ด้วย และก็ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ผมก็ไม่ร้อง เพราะนายสมคิด สวมหมวกอีกใบเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ถือเป็นข้าราชการประจำ ตรงกฎหมายไม่ห้ามสามารถไปดำรงตำแหน่งได้ แต่ทั้ง 9 คน ที่ผมร้อง ทุกคนเกษียณอายุกันหมดแล้ว ซึ่งผมก็ได้สำเนาประวัติบุคคลทั้งหมดที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.ระบุ วัน เดือน ปี เกิด ครบแนบมาให้กกต.ด้วย" นายเรืองไกร กล่าว...

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในส่วนของนายกรัฐมนตรี และครม.ที่มีคำสั่งแต่งตั้งก็ต้องรับกับความผิดดังกล่าวด้วย เพราะเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 186 วรรคสอง ประกอบกับระบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง 2551 ข้อ 15 ระบุชัด ไม่ให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะ หรือตำแหน่งการเป็นข้าราชการการเมืองเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการบรรจุ แต่งตั้ง กรณีดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ต้องร้องต่อกกต.เพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้ความเป็นสนช.และรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ตนก็ได้ร้องต่อกกต.ขอให้ดำเนินการกับนายกรัฐมนตรีและครม. ในความผิดเดียวกันนี้ กรณีแต่งตั้ง นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ด้วย





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น