วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560

นักวิชาการเตือนดีเอสไอ ปล่อยภาพละเมิดสิทธิ์ “พานทองแท้”


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการชื่อดังที่สนับสนุนประชาธิปไตย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ความยุติธรรมกับความรู้สึก

ผู้ที่เรียกตนเองว่า นักนิติศาสตร์ หรือ ภาษาง่ายๆว่า นักกฎหมาย นั้น บุคลิกลักษณะที่ต้องมี หรือต้องได้รับการฝึกฝนผ่านการศึกษา วัตถุที่เรียกว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” นั้น ต้องไร้ซึ่งความรู้สึก รัก ชอบ เกลียด หลง หรืออคติอื่นใด หมายความว่า ผู้ที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ จะต้องไม่สนใจองค์ประกอบภายนอกใดๆ นอกไปจาก การกระทำ และ ตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษร ผมเองทั้งชีวิตก็ถูกฝึกว่าให้ไร้ความรู้สึกเช่นนี้  แต่มาหลังๆนี้ผมเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า กฎหมายและความยุติธรรมจะดำรงอยู่ได้ด้วยการไร้ความรู้สึกเช่นนั้นหรือไม่?

กรณี นายพานทองแท้ ชินวัตร และ การปล่อยกู้คดีกรุงไทย และข้อหา เรื่องฟอกเงินนั้น ผมต้องออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้ศึกษาหรือติดตามเรื่องนี้เลย แต่ความรู้สึกของสังคมไทยตอนนี้ก็เห็นได้ชัดว่า มีแบ่งแยกอย่างชัดเจน ฝ่านหนึ่งเห็นว่า เมื่อมีการกล่าวหาเกิดขึ้นจาก ดีเอสไอ นายพานทองแท้ ก็ “ถือว่า” มีความผิดไปเสียแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรมตั้งแต่ต้นแล้ว ความรู้สึกว่าด้วยความยุติธรรมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด

Universal Declaration of Human Rights 1948 หรือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 “ศักดิ์ศรีและความยุติธรรมสำหรับเราทุกคน” รัฐบาลไทย ยังภูมิใจใน http://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/udhr-th-en.pdf หน้าที่ 1 ว่า “ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรกที่ลงคะแนนเสียงร่วมรับรองปฏิญญาฉบับนี้” ถือว่า รัฐไทยให้การยอมรับ กฎหมายระหว่างประเทศนี้ว่ามีสถานะเป็นกฎหมายที่รัฐไทยพึงต้องเคารพ

เมื่ออ่านไปข้อ 10 ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  ที่บัญญัติ ว่า “ทุกคนย่อมมีสิทธิเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยจากศาลที่อิสระและไม่ลำเอียงในการพิจารณากำหนดสิทธิและหน้าที่ของตนและข้อกล่าวหาอาญาใดต่อตน” อ่านต่อที่ ข้อ 11 (1) ว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี” 
เห็นกรณีที่มีคลิปเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน ของ นายพานทองแท้ เข้ารับทราบข้อหาคดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทย แล้ว และเมื่ออ่านจาก ข้อ 10 และ 11 ของ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 ถ้าตอบแบบ นักนิติศาสตร์ที่ไร้ความรู้สึกแล้วก็ต้องตอบว่า พานทองแท้ ยังต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่า จะมีการตัดสินโดยฝ่ายตุลาการที่เป็นอิสระ และคดีสิ้นสุดกระบวนการทางตุลาการ แต่ก็อย่างที่พาดหัวไว้ “ความยุติธรรมกับความรู้สึก” ว่า แค่คลิปวีดีโอ การเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ความรู้สึกของสังคมบางส่วน ก็ตัดสินว่า “มีความผิด”เรียบร้อยแล้ว แม้แต่ระเบียบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าวการเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน พ.ศ. 2557 ข้อ 10 ก็มีระเบียบที่ละเอียดมากๆให้ระมัดระวังการเผยแพร่ข่าว ต่อสื่อมวลชนที่ละเมิดต่อสิทธิผู้อื่น คำว่าผู้อื่นนี่ก็คือทุกคน ไม่ว่าจะชื่อ พานทองแท้ หรือใครก็ตาม

โดยสรุปแล้ว เห็นได้ว่า ความยุติธรรม ที่เป็นเป้าหมายของกฎหมาย จึงบังคับให้ การปฎิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหา ว่า เขาคนนั้น ไม่ว่าจะนามสกุลอะไรก็ตาม จะต้องได้รับการปฏิบัติจากหน่วยงานรัฐ ประกัน สิทธิขั้นพื้นฐานนี้ ในกรณีคลิปนี้ หน่วยงานรัฐต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อกระบวนการยุติธรรม ในคดีทุกคดี และสื่อมวลชนก็ต้องพึงระมัดระวังความรู้สึกของสังคมที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานนี้ด้วย

ด้วยความเคารพ
เอกชัย ไชยนุวัติ
ราษฎร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น