วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

"ชวลิต" ติงรัฐเก็บภาษีน้ำ กระทบเกษตรกร


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเก็บค่าน้ำจากผู้ใช้น้ำ มีผลกระทบกับผู้ใช้น้ำหลายอาชีพ โดยหลังจาก พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ กรมทรัพยากรน้ำเคยคาดการณ์ว่าจะเก็บค่าใช้น้ำได้ถึงปีละประมาณ 5,000 ล้านบาทนั้น ว่า "โดยส่วนตัวกฎหมายนี้ไม่ควรมีหลักคิดในการหารายได้เข้ารัฐเป็นหลัก แต่ควรมุ่งการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเป็นหลักมากกว่า แม้จะมีการออกมาปฏิเสธในภายหลังว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่กระทบชาวนาและเกษตรกรรายย่อย แต่การให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนในชั้นแรกสร้างความแตกตื่นต่อเกษตรกรในหลักเกณฑ์และวิธีการเก็บค่าใช้น้ำที่ไม่ชัดเจน และจนถึงปัจจุบันการพิจารณาในชั้น กมธ.ยังต้องแขวนมาตรา 39 ซึ่งเป็นมาตราเจ้าปัญหาไว้ก่อน ในประเด็นสำคัญของการวิพากษ์ส่วนหนึ่งก็คือ  คำว่า "เกษตรกรรายย่อย" และ "เพื่อการพาณิชย์" ในกฎหมายฉบับนี้ไม่มีคำนิยามบัญญัติไว้ หรือจะนำคำนิยามมาจากกฎหมายฉบับอื่นมาใช้"
     
นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า "นอกจากนี้ คำว่า "เกษตรกร" ก็เป็นที่ทราบดีว่าครอบคลุมอาชีพการเกษตรหลากหลายสาขา ทั้งยังมีอาชีพอื่นที่ต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมและรับฟังความเห็นกับผู้ใช้น้ำดังกล่าวอย่างทั่วถึง ควรทบทวนเริ่มต้นกันใหม่ด้วยการรับฟังความเห็นประชาชนหลากสาขาอาชีพทุกจังหวัด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 อย่างทั่วถึงดังกล่าวข้างต้น"

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอฝากข้อสังเกตไปยังผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้
     
1. ต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น ฝ่ายบริหารไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบหรือโยนกลองไปยังข้าราชการ เพราะการเสนอร่างกฎหมายสำคัญ โดยเฉพาะกฎหมายที่มีผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง ล้วนเป็นนโยบายจากรัฐบาลและผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนในการเสนอร่างกฎหมายก่อนเข้าพิจารณาใน สนช. ต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เป็นสำคัญ โดยมีกฤษฎีกา, วิป สนช. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาร่างกฎหมาย ดังนั้น เมื่อผ่าน ครม. แล้ว จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ดังกล่าวไว้ข้างต้น
     
2. เมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ในส่วนของหลักการ ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แต่ในข้อเท็จจริงการรับฟังความเห็นประชาชนยังไม่ทั่วถึง เห็นได้จากมีเกษตรกรคัดค้านอื้ออึงทั่วประเทศ  จึงควรรับฟังความเห็นอย่างทั่วถึงทุกจังหวัด ดังที่ให้ความเห็นไว้
     
3. เมื่อตรวจสอบรายละเอียดลงลึกเป็นรายมาตรา พบว่ามีปัญหาในมาตรา 39(2) ในส่วนของการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่น มีข้อพิจารณาว่า มีรายละเอียดการใช้น้ำอย่างไรถึงเข้าหลักเกณฑ์เพื่อการพาณิชย์ และเกษตรกรรายย่อยใช้คำนิยามอย่างไร ควรมีการกำหนดให้ชัดเจน ไม่ใช่ไปกำหนดไว้ในกฎกระทรวง นอกจากนี้ยังมีอาชีพอื่นที่ต้องใช้น้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบเช่นกัน ได้รับฟังความเห็นอย่างทั่วถึงหรือไม่อย่างไร
       
นายชวลิต กล่าวในที่สุดว่า "ตนจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร และผลประโยชน์ของส่วนรวมต่อไป"
       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น