วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2561

"เพื่อไทย" แนะ ทบทวนสัญญาสัปทานบีทีเอส


ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ หัวหน้าคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวแสดงความห่วงใยในคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ สืบเนื่องจากเหตุการณ์บีทีเอส หรือ BTS ขัดข้อง ทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาปี 2016 เกิดปัญหา 24 ครั้ง และปี 2017 เกิดปัญหา 46 ครั้ง จากการสำรวจ BTS มีการรายงานเหตุขัดข้องว่า 29% เกิดจากรถไฟฟ้าขัดข้อง 24% เกิดความล่าช้า และ 53% ไม่ระบุสาเหตุ โดยปัญหาที่พบบ่อยได้แก่ จุดสับรางขัดข้อง, ระบบควบคุมการเดินรถเกิดขัดข้อง และอาณัติสัญญาณขัดข้อง และในเดือน ก.พ.ปี 2016 เกิดเหตุขัดข้องนานที่สุดซึ่งกินเวลานานถึง 1,449 นาที โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นทางผู้ให้บริการแจ้งว่า เกิดเหตุขัดข้องบริเวณจุดสับรางในทิศทางจากสถานีชิดลมมุ่งหน้าเข้าสถานีสยาม จึงทำให้ไม่สามารถให้ขบวนรถไฟฟ้าวิ่งผ่านจุดดังกล่าวได้ และจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้รถไฟฟ้ากลับมาให้บริการปกติโดยไม่มีเหตุขัดข้องอยู่ 3 เดือน จนกระทั่งเดือน มิ.ย.ปี 2016 เกิดปัญหาอีกครั้ง ซึ่งนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงวันนี้ยังไม่มีเดือนไหนเลยที่รถไฟฟ้าไม่เกิดปัญหา จนกระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดในเดือน มิ.ย.61 นี้ที่ รถไฟฟ้าเกิดปัญหาขัดข้องรวม 9 ครั้ง ใช้เวลาแก้ไขรวมทั้งหมด 561 นาที ทำให้คนกรุงที่ต้องใช้บริการ BTS ได้รับความเดือนดร้อนอย่างหนัก

"ดังนั้นทาง BTS จึงควรออกมาแสดงความรับผิดชอบเยียวยาคนกรุงที่ได้รับความเดือดร้อนจาก เหตุการณ์ในครั้งนี้ด้วยการให้ประชาชนขึ้นฟรีตลอดเดือน ก.ค.61, และควรดำเนินการจัดการให้บริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ เข้ามาตรวจสอบมาตราฐานความปลอดภัย ซึ่งหาก BTS ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ กทม. ควรจะพิจารณายกเลิกสัปทานบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือไม่? และ กทม. จะมีมาตราการบทลงโทษ ต่อเหตุการณ์นี้อย่างไร?" ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าว

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ ได้แสดงความคิดเห็นและตั้งข้อสังเกตว่า จากการที่สัญญาสัปทานกว่าจะหมดอายุก็ปี 2572 ซึ่งเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน และสัญญาดังกล่าวไม่ได้เปิดช่องสำหรับบทลงโทษ ทำให้ กทม. ในฐานะที่เป็นผู้ให้สัมปทานเดินรถ ไม่สามารถทำอะไรได้มาก นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่า กทม. จึงทำได้เพียงส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยัง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้นจึงทำให้ต้องตั้งข้อสังเกตุว่า ในการต่อสัมปทานครั้งต่อไป ควรจะต้องมีมาตรการป้องกัน และบทลงโทษไว้รองรับด้วย และจากการที่ มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่า กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในสมัยนั้น ได้อนุมัติให้ขยายสัญญาบริหารรถไฟฟ้าให้ BTS ไปอีก 13 ปีทั้งที่จะหมดสัญญาการสัมปทานในอีก 17 ปีข้างหน้า ทำให้เกิดฉุกคิดว่าเป็นการสมควรหรือไม่? และประชาชนได้รับผลประโยชน์อย่างไร? ดังนั้นหาก กทม.ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ รัฐบาลควรจะพิจารณาใช้ ม.44 ในการแก้ไขปัญหานี้หรือไม่อย่างไร? เพราะทุกวันนี้ประชาชนได้รับความลำบากจากปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเราควรช่วยเหลือประชาชนทุกคนให้ได้รับประโยชน์สูงสุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น