วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

"เพื่อไทย" แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาขยะมีพิษ


ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ หัวหน้าคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีข่าวการจับกุมโรงงานที่ลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาแปรรูป โดยโรงงานดังกล่าวได้ใช้วิธีการสำแดงเท็จว่าเป็นเศษพลาสติก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศที่ผิดกฎหมายจำนวนมาก  จากการตรวจสอบพบว่า ตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ขยะพลาสติกเหล่านี้ ได้ถูกส่งมาลงที่ประเทศไทย โดย มีที่มาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก กว่า 35 ประเทศ เช่น ฮ่องกง ยูเอสเอ อังกฤษ แคนาดา ออสเตีย เยอรมนี เกาหลี เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย จีน ไนจีเรีย อิหร่าน สเปน เวียดนาม ตุรกี ฝรั่งเศส ปากีสถาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตศ์ ฯลฯ

ในปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่ในทุกครัวเรือน ส่งผลให้เกิดปัญหาจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีปริมาณมากกว่า 40 ล้านตันต่อปี และมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4 ต่อปี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายรองรับการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นรัฐบาลควรผลักดันให้มีการจัดการแก้ปัญหาแบบเต็มรูปแบบและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเร่งรัดการออกกฎหมายให้เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งกระบวนการออกกฎหมายนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. และยังไม่ทราบระยะเวลาว่าอีกกีปีจึงจะแล้วเสร็จ

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตควรจะรับผิดชอบต่อสินค้าที่ตนผลิตตลอดอายุวงจรชีวิตของสินค้า เมื่อสิ้นสุดวงจรชีวิตและไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ผู้ผลิตควรนำสินค้าเหล่านั้นกลับคืน เข้ากระบวนการรีไซเคิลสำหรับนำกลับมาใช้งานใหม่ หรือ กำจัดทิ้งอย่างปลอดภัย  และในส่วนของกระบวนการรีไซเคิลสินค้า รัฐไม่ควรนำภาษีของประชาชนไปรับผิดชอบต่อต้นทุนการรีไซเคิล

ในส่วนของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐควรสนับสนุนบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ไม่ใช้สารอันตราย และควรมีเครื่องมือในการตรวจสอบค่าความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ  อาทิเช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยการจัดสร้างแอปพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบค่าดังกล่าวได้ ในภาคส่วนของประชาชนก็สามารถช่วยสังคมได้โดยคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะซื้อสินค้าใหม่ว่าจำเป็นจริงๆ หรือไม่ หากพิจารณาว่าจำเป็นต้องซื้อใหม่ ก็ควรส่งอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้วกลับคืนให้ผู้ผลิตเพื่อนำกลับสู่กระบวนการีไซเคิล หรือกำจัดอย่างปลอดภัย ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น