วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

“หมวดเจี๊ยบ” ยกญี่ปุ่นต้นแบบรับมือวิกฤติ เชื่อคนไทยร่วมใจแก้ปัญหาสำเร็จ


..หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

สัปดาห์ที่แล้ว เจี๊ยบเดินทางไปดูงาน กับ กกต. ที่จังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการดูงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง หรือ หลักสูตร พตส. รุ่นที่ 9 มาค่ะ

นึกถึงประเทศญี่ปุ่น หลายท่านคงต้องนึกถึงภัยธรรมชาติต่าง ที่อยู่คู่กับชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ โดยเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือสึนามิ

ตัวเจี๊ยบเองก็เคยได้สัมผัสรสชาติของการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางแผ่นดินไหวเช่นกัน โดยในปี 2547 เจี๊ยบมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ที่โตเกียวเป็นเวลา 3-4 เดือน ในฐานะตัวแทนสื่อมวลชนไทยที่ได้รับทุนจากรัฐบาลไทยและญี่ปุ่น เป็นตัวแทนผู้สื่อข่าวโทรทัศน์มาร่วมฝึกอบรมการทำข่าวกับสำนักข่าว NHK ประเทศญี่ปุ่น 

โครงการอบรมการผลิตข่าวและสารคดีโทรทัศน์ดังกล่าว จะมีนักข่าวทีวีเข้าร่วมอบรม จำนวน 10 คน โดยเป็นตัวแทนจาก 8 ประเทศ ละ 1 คน ยกเว้นแอฟริกาใต้ ส่งมา 2 คน รวมเป็น 10 คน ส่วนอีก 8 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เมียนมาร์ มาเลเซีย ภูฏาน อียิปต์ เม็กซิโก เปรู และ อุรุกวัย 

ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น หน่วยงานที่ดำเนินการสอบคัดเลือกผู้ที่จะได้รับทุนจากประเทศไทย คือ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือทีวีพูลค่ะ ซึ่งตอนที่เจี๊ยบสอบชิงทุนนี้ได้ เจี๊ยบยังทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสายทหารและเป็นผู้ประกาศข่าวอยู่ที่ ช่อง 5 ค่ะ

จำได้ว่าช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 เดือนกว่า นั้น ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวบ่อย เรียกได้ว่าแทบจะเกิดขึ้นวันเว้นวันเลยทีเดียว บางทีนอนๆ อยู่ ก็ต้องสะดุ้งตื่นเพราะแผ่นดินไหวจนเตียงสั่น ทำให้เราตื่นขึ้นมากลางดึกก็มี หรือเวลาเดินอยู่ในห้าง อยู่ ประตูห้างบานใหญ่ หนักๆ ก็เลื่อนจากซ้ายไปขวาเสียงดังโครมครามเพราะแผ่นดินไหว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เจี๊ยบชื่นชมในตัวของคนญี่ปุ่น คือ ความเข้มแข็งและไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาค่ะ ทั้งนี้ ชาวญี่ปุ่นตระหนักดีว่า พวกเค้าไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่อยู่คู่กันกับประเทศญี่ปุ่นได้ แทนที่เค้าจะย้ายหนีไปอยู่ที่อื่น แต่ชาวญี่ปุ่นเลือกที่จะเผชิญหน้ากับมัน โดยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เข่น ออกแบบโครงสร้างตึกสูงๆ ไม่ให้ถล่มลงมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยทำให้ฐานรากของตึกมีลักษณะยืดหยุ่นได้ คล้ายๆ ติดสปริงที่เสาเข็ม ทำนองนั้น ดังนั้น ต่อให้ตึกจะโยกคลอนเพราะแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว แต่ก็ไม่ถล่มลงมาเพราะฐานรากได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ เป็นต้น

นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นก็ยังเป็นคนที่คิดบวกอีกด้วย โดยเค้ามองว่าข้อดีของการที่มีพายุไต้ฝุ่นลูกใหญ่ๆ ซัดถล่มญี่ปุ่นหลาย ลูกในแต่ละปีนั้น ก็มีประโยชน์เหมือนกัน คือ ทำให้ข้าศึกสำคัญ คือ จีนไม่สามารถรุกรานญี่ปุ่นได้ง่ายๆ เพราะเวลาจีนยกทัพมาทางเรือทีไร กองทัพเรือจีนก็ต้องแตกพ่ายไปแทบทุกครั้งเพราะอิทธิฤทธิ์ของไต้ฝุ่นนี่แหละ ซึ่งชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่านี่คือ พรวิเศษจากสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่คอยคุ้มครองดินแดนญี่ปุ่นไม่ให้ถกบดขยี้โดยอริราชศัตรู และเป็นรากฐานของความเชื่อที่ว่าที่ตั้งของญี่ปุ่น คือ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่มีเทพเจ้าคุ้มครองอยู่ และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นมองว่าตัวเองเป็นลูกของพระอาทิตย์

ขอย้อนกลับมาคุยถึงเรื่อง การรับมือเหตุภัยพิบัติของชาวญี่ปุ่นกันต่อนะคะ สิ่งที่น่าสนใจ คือ องค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างตึกเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องที่หวงห้าม หรือจำกัดการรับรู้เฉพาะในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ เช่น วิศวกร หรือเจ้าหน้าที่รัฐ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลญี่ปุ่น ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ต่างก็ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับรู้กันทั่วไป โดยอธิบายให้เข้าใจกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ จะได้รู้ว่าพวกเขาต้องทำตัวอย่างไร หรือจะต้องหนีไปทางไหน และต้องขอความช่วยเหลือจากใคร ผ่านช่องทางไหน เวลาที่เกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวหรือน้ำท่วมก็ตาม 

ในขณะที่สื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะ สถานีโทรทัศน์ NHK จะแปรสภาพกลายเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ประสบภัยกับหน่วยงานของรัฐทันที เวลาที่เกิดเหตุภัยพิบัติใหญ่   เช่น เวลาเกิดเหตุแผ่นดินไหวหรือ สึนามิ ไม่ว่าจะในพื้นที่ใดของญี่ปุ่น สถานีแม่ข่ายของ NHK จะสามารถดึงภาพเหตุการณ์มาดูได้ทันที แบบ Real Time  เพราะได้ตั้งกล้องทิ้งไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อใช้เช็คสถานการณ์ และแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนอพยพจากบ้านเรือน

นอกจากนี้ ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ของ NHK จะถูกฝึกซ้อมให้รู้วิธีรายงานข่าวในสถานการณ์ดังกล่าว เวลามีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นจริง พวกเค้าจะได้ไม่ตื่นเต้นและจะได้รู้ว่าต้องพูดอะไรบ้างซึ่งเป็นข้อมูลที่จำเป็นต่อผู้ประสบภัย รวมทั้งสิ่งที่สาธารณชนควรต้อวรับรู้ในภาวะเช่นนั้น 

ไหนๆ ช่วงนี้ บ้านเราก็กำลังตื่นตัวกับกระแสการช่วยเหลือน้องๆ ทีมหมูป่าอคาเดมี่ 13 คน แล้ว ถ้าจะให้เกิดประโยชน์ยิ่งกว่านี้ ก็น่าจะต่อยอดความสำเร็จของปฏิบัติการช่วยชีวิตน้อง 13 คน โดยการผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการเพื่อรับมือกับเหตุการณ์พิบัติภัยที่เป็นระบบ เพื่อให้ผู้เคราะห์ร้ายทุกกรณีสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือของรัฐและสังคมได้อย่างถ้วนหน้ากัน ไม่อย่างนั้น ก็จะกลายเป็นว่า ถ้าเหตุการณ์ไหนอยู่ในความสนใจของสังคม จึงจะมีการระดมความช่วยเหลือเป็นครั้ง ไป แต่ถ้าข่าวไหนไม่ดัง ผู้เคราะห์ร้ายก็ไม่ได้รับการเหลียวแล เป็นต้น 

ซึ่งหากปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ก็น่าเสียดายศักยภาพของคนไทยนะคะ เพราะถ้าวัดจากกรณีการช่วยเหลือ เด็กๆ ทีมหมูป่าอคาเดมี่ จะเห็นได้ว่าคนไทยเรานั้น หากพวกเราร่วมมือร่วมใจทำสิ่งใดอย่างจริงๆ จังๆ เราก็สามารถทำมันออกมาได้เป็นอย่างดี และประสบความสำเร็จชนิดที่คนทั้งโลกยังต้องยกนิ้วให้ 


ดังนั้น หากมีการบริหารจัดการที่ดี และมีการดึงทรัพยากรที่มีอยู่มาใ่ช้อย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะเครือข่ายสถานีโทรทัศน์และวิทยุในการกำกับดูแลของรัฐ หากรัฐนำมาใช้เป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสารและการระดมความช่วยเหลือในภาวะวิกฤติ เจี๊ยบเชื่อว่าการจัดตั้งเครือข่ายทางสังคมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ก็เป็นสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้ ยิ่งถ้าเอามาบวกกับนิสัยใจคอของคนไทยที่เป็นคนมีน้ำใจชอบช่วยเหลือผู้อื่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สิ่งที่เจี๊ยบพูดถึงนั้นคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอนค่ะ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น