วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"ทวี" ชี้ รัฐธรรมนูญไม่เสมอภาค พาประเทศไปสู่รวยกระจุกจนกระจาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


‘ความไม่เสมอภาค’ ในรัฐธรรมนูญปี 60 อาจนำพาประเทศ “ไปสู่รวยกระจุกจนกระจายยิ่งขึ้นหรืออย่างไร?”

รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีความ “ไม่พอดี” และ “ไม่สมดุล” ทั้งในด้านโครงสร้างอำนาจ กลไก และมาตราการในการจัดสรรแบ่งปัน อำนาจ ผลประโยชน์ ทรัพยากร และความยุติธรรม หลายประการ ทั้งมีที่มาของรัฐธรรมนูญ ที่เกิดจากผู้ทำการปฏิวัติรัฐประหาร กระบวนการยกร่างขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและถูกครอบงำ แม้จะอ้างว่ามีการลงประชามติรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เป็นการประชามติที่ประชาชนรณรงค์ไม่เห็นด้วยถูกจับกุม ขาดเสรีภาพ เกิดความขัดแย้งและไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

ในด้าน “เนื้อหารัฐธรรมนูญ” หลายส่วนขัดกับหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม เพราะคณะรัฐประหารและผู้ร่างไม่ไว้ใจประชาชน จึงมีอคติที่มีต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็น รธน. ที่สร้างโครงสร้างอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ วุฒิสภา และโครงสร้างอำนาจรัฐ มีพลังอำนาจสูงสุด ผู้ดำรงตำแหน่งล้วนมีที่มาจากระบบการแต่งตั้งจากระบบราชการ กองทัพ และฝ่ายตุลาการ ที่มีอำนาจมากและปราศจากการตรวจสอบจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

เมื่อพิจารณาอายุของผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระพบว่าเป็น “วัยชรา หรือผู้สูงอายุ” ทั้งสิ้น ผู้อยู่ในวัยทำงาน หนุ่ม สาว เยาวชนคนรุ่นใหม่แทบไม่มีโอกาสเลย แม้ผู้สูงอายุ หรือวัยชราจะผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากที่นับว่ามีประโยชน์ก็ตาม แต่ไม่เสมอไปและมีส่วนด้อยด้านศักยภาพทางร่างกายสุขภาพและจิตใจในหลายประการ ซึ่งกรณีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญนั้นสามารถมีได้ในคนทุกเพศทุกวัยไม่จำกัด ยิ่งมีความแตกต่างหลากหลายได้มีส่วนร่วมยิ่งแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ ไม่ควรละเว้นแม้แต่สตรีหรือผู้พิการหรือเยาวชนหากเรื่องที่ตัดสินใจเกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น ในกรณีอายุ ตามรัฐธรรมนูญปี 60 หากพิจารณาด้านอายุ พบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ได้ถึงอายุ 75 ปี กกต. ป.ป.ช. คตง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อยู่ได้ถึงอายุ 70 ปี ส.ว. หลายคนอาจมีอายุกว่า 70 ปี นี่ยังไม่รวมถึงที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาที่มีอายุใกล้ 70 ปี

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงข้อมูลพบว่ามีผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปในสังคมไทยประมาณ 11ล้านคนเศษ หรือประมาณมากกว่าร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด ผู้สูงอายุทุกคนล้วนมีประสบการณ์ชีวิต มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่หลากหลายทำไหมจึงไม่มีความเสมอภาค หรือเสมอหน้ากันในเข้าสู่ตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ? ในด้านการบริหารและการปกครองรัฐธรรมนูญ 60 ไม่มีคำว่า “กระจายอำนาจ” แม้แต่คำเดียวเนื้อหาได้ให้ความสำคัญ ความมั่นคงของรัฐเหนือความมั่นคงของปวงชน แม้บางเรื่องให้สิทธิเสรีภาพแต่จะมีเงื่อนไขว่าตามที่ “กฎหมายบัญญัติ” หรือ “เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย” หรือ “ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ” ที่นับรวมกันแล้วมีมากถึง 65 แห่ง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมี ‘บทเฉพาะกาล’ ที่เป็นมรดกของ คสช ซึ่งโดยหลักการ บทเฉพาะกาล เป็นส่วนกฎหมายที่บัญญัติให้ใช้เฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งหรือกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนวันใช้บังคับกฎหมายนั้น แต่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 60 ได้บัญญัติให้ ‘สมาชิกวุฒิสภา’จำนวนเป็น 250 คนมาจากการเลือกของคณะ คสช มีกำหนด 5 ปี (ถึง 10 พฤษภาคม 2567) กำหนดภารกิจพิเศษ คือ ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจในการกำกับการปฏิรูปประเทศ หรือกำหนดชะตากรรมของประเทศ และกรณีกฎหมายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอหากคณะรัฐมนตรีเห็นว่า ร่างกฎหมายใดเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศให้เป็นการพิจารณาร่วมกันในที่ประชุมของ ‘รัฐสภา’ จะมีเสียงสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงเข้าพิจารณาทำให้ คสช สืบทอดมรดกได้ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

ภายหลังรัฐประหารมีรัฐบาล คสช ปกครองประเทศปี 57 เป็นต้นมาและต่อเนื่องมารัฐบาลปัจจุบัน ปรากฏการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำ ความยากจนของคนไทยได้เพิ่มขึ้นรุนแรงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ผู้ยากจนของไทยสิ้นปี 56 (ก่อนจะมีรัฐประหารในปี 57) มีประมาณ 7.3 ล้านคน หลัง คสช ยึดอำนาจและปกครองประเทศข้อมูลในปี 61 ผู้ยากจนมีรายได้น้อยจริงรัฐช่วยเหลือพิเศษผ่านบัตรสวัสดิการมีจำนวนมากถึง 11.4 ล้านคน (บัตรฯ) และในปัจจุบันปี 63 (ต้นปี) เพิ่มเป็นจำนวน 14.6 ล้านคน การที่ความยากจนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ 60

จึงมีคำถามว่า ‘รัฐธรรมนูญปี 60’ ที่สืบทอดมรดก คสช. กำลังจะ “นำพาประเทศสู่การรวยกระจุกจนกระจายยิ่งขึ้นหรืออย่างไร?”

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
เลขาธิการพรรคประชาชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น