วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2565

“ทวี” ชงแก้ 2 ประเด็นหลักช่วยลูกหนี้ กยศ. ปรับโครงสร้างบอร์ดเพิ่มการมีส่วนร่วม

เลขาธิการพรรคประชาชาติ เผย กมธ.กฎหมาย กยศ. เตรียมเสนอ กรรมาธิการฯเชิญปลัดคลังหารือทบทวนประกาศหลักเกณฑ์บังคับนักศึกษาที่กู้ กยศ.ทำงานบำเพ็ญประโยชน์ 36 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่โควิดระบาด รัฐบาลขอความร่วมมือไม่ให้ออกจากบ้าน เผยดูแลตัวเองกับครอบครัวก็แย่แล้ว อย่าสร้างภาระให้อนาคตของชาติ พร้อมแก้โครงสร้าง “บอร์ด กยศ.” เพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก 5 เป็น 7 คน เน้นสร้างการมีส่วนร่วม ไม่ใช่มีแต่ข้าราชการเกษียณ 

วันที่ 21 เม.ย.65 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ห้องข่าวรัฐสภา แชนแนล” ช่วง “ประเด็นเป็นข่าว” ทางโทรทัศน์รัฐสภา ช่อง 10 ถึงกรณีที่ตัวแทนนิิสิต-นักศึกษา 12 สถาบัน เดินทางมาที่อาคารรัฐสภา เพื่อยืนเรื่องต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เรียกร้องให้มีการปรับแก้ในหลายประเด็น 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เมื่อวาน (20 เม.ย.) มีตัวแทนของนักศึกษา 12 สถาบัน ได้มายื่นเรื่องให้ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กยศ. ได้พิจารณาหลักๆ มีอยู่ 2 หัวข้อใหญ่ๆ ก็คือ  

กรณีปัจจุบันคณะกรรมการ กยศ. ไปออกประกาศของ กยศ.ในเรื่องคุณสมบัติเฉพาะของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้กู้ยืมกองทุน ทุกลักษณ์ทั้งกลุ่มผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์  สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก สาขาวิชาขาดแคลน และกลุ่มเรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ กยศ มีหลักเกณฑ์อยู่ข้อหนึ่งว่า “เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ” ทั้งนักเรียนหรือนักศึกษาผู้กู้ยืมรายใหม่ ผู้กู้ยืมรายเก่าที่เปลี่ยนระดับการศึกษา และผู้กู้ยืมรายเก่าที่เลื่อนชั้นทุกปีระดับการศึกษา สำหรับกรณีผู้กู้ยืมรายเก่าที่จะเลื่อนชั้นทุกปีของระดับการศึกษา จะกำหนดจำนวนให้ทำประโยชน์ต่อสังคม 36 ชั่วโมง ซึ่งประเด็นนี้ตัวแทนนักศึกษาเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 และคุณภาพครอบครัวชีวิตผู้กู้ปัจจุบันที่ยากลำบาก ระบบการเรียนยังเปลี่ยนไปใช้ออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ และมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานช่วยเหลือครอบครัวที่ยากลำบาก ผู้กู้ยืม กยศ เป็นกลุ่มมีฐานะยากไร้ ก็เลยเรียกร้องข้อให้ไปปรับปรุง ซึ่งหลักเกณฑ์นี้คณะกรรมการ กยศ อ้างว่าอาศัยอำนาจตาม มาตรา 39 พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ตัวแทนนักศึกษาอยากให้ คณะกรรมการ กยศ. ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 12 คน มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 6 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน  และผู้จัดการ กยศ ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งจากรัฐ ทางนักศึกษาอยากให้มีตัวแทนที่มาจากระบบการเลือกตั้งบ้าง เช่นประธานสภาการศึกษา นายกองค์กรนักศึกษาที่มีกระบวนการเลือกตั้งร่วมเป็นคณะกรรมการ เพราะว่าการกู้ยืมเงินเป็นเรื่องของนักเรียน นักศึกษา จึงต้องการสะท้อนปัญหาและความต้องการ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติจริงๆ คือ ถ้าเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก็ไปแต่งตั้งคนมีตำแหน่งในหน่วยงานต่างๆ มาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซ้ำอีกตำแหน่ง หรือกรรมการด้านกฎหมาย ก็ไปเอาอดีตข้าราชการเก่าที่ระดับต่ำกว่าหรือลูกน้องคณะกรรมการโดยตำแหน่งที่มีอยู่แล้ว ทั้งด้านนักกฎหมาย หรือด้านการเงินก็ไปเอาข้าราชการระดับรองๆ ที่เกษียณอายุไปในกระทรวงการคลังเข้ามา เหล่านี้นักเรียนนักศึกษาอยากมีส่วนร่วม จึงยื่น 2 เรื่องเข้ามา 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การแก้ไขในข้อเรียกร้องแรก ต้องชี้แจงทำความเข้าใจว่า ข้อเรียกร้องเรื่องคุณสมบัติผู้กู้ยืม กฏหมายให้อำนาจคณะกรรมการฯไปกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน ตามมาตรา 39 ตรงนี้ไม่มีอยู่ในกฎหมาย แต่คณะกรรมการไปออกหลักเกณฑ์ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฏหมายที่ส่งเสริมสนับสนุนเรื่องการศึกษาไม่ใช่ออกกฏเกณฑ์เป็นอำนาจนิยมและเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา  เพราะ กมธ.วิสามัญฯ เพิ่งพิจารณามาตรา 39 เราก็มีการแก้ไขให้กว้างขึ้น เพื่อให้กองทุนสามารสนับสนุนส่งเสรืมการศึกษาได้มากยิ่งขึ้น เดิมมีการล็อกคุณสมบัติอันหนึ่งที่จะกู้ได้ก็คือ “สัญชาติไทย” ซึ่ง กมธ ก็เห็นด้วยกับคุณสมบัติสัญชาติไทย แต่เรายังพบว่ามีบุคคลจำนวนมากที่เป็นคนไทยที่รอสถานะทางสัญชาติที่รัฐบาลอยู่ในกระบวนการอยู่ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง หรือคนที่เกิดในประเทศไทยแล้วอยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติ คนกลุ่มนี้พอไปรอให้ราชการพิสูจน์สัญชาติ มันก็ช้ามากราชการมักอ้างงบประมาณและกำลังพลไม่มีพอทำงาน กว่าจะชี้ขาด บางทีอายุก็เลยวัยเรียนไปแล้วที่คนเหล่านี้ก็เป็นพลเมืองไทย เราก็อยากจะเปิดกว้างให้สามารถเข้ามากู้ยืมได้ จึงมีการแก้ไข 

ส่วนเรื่อง เงื่อนไขเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ หรือจิตอาสา ทุกคนที่เป็นผู้กู้ยืมและกรณีผู้กู้ยืมเก่าเลื่อนชั้นปีไปกำหนดอย่างน้อยต้อง 36 ชั่วโมง เป็นไปตามประกาศของ กยศ. เป็นเรื่องระเบียบภายใน แต่เป็นไปตามเจตนารมณ์กฏหมายหรือไม่ การศึกษาเป็นสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรองรับต้องเป็นไปตามความถนัดของผู้เรียน ส่วนตัวอาจเสนอให้ที่ประชุมมีมติเชิญปลัดกระทรวงการคลัง ที่เป็นประธานกรรการ กยศ. ผู้ลงนามในประกาศ กยศ มาให้เหตุผล ตอบซักถาม แม้เป็นระเบียบที่ต้องไม่ขัดเจตนารมณ์ของกฏหมายที่ในเบื้องต้นมุมมองจะต่างกัน

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติเรื่อง การศึกษาต้องเป็นเสรีภาพตามศักยภาพของผู้เรียน การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องไปส่งเสริม แต่ประกาศนี้มีลักษณะเป็นอำนาจนิยมเกินไปหรือไม่ ก็ต้องมาถามกัน 

“นักเรียนนักศึกษากลุมนี้ ตัวเขาเองคือแรงงาน เขาจะต้องมาช่วยครอบครัวที่ไม่มีเงินด้วยยังต้องไปบำเพ็ญประโยชน์ในช่วงโควิดอีก ทำไมคุณไม่ไปบังคับกับคนมือบน หรือคนที่ร่ำรวย ให้ไปทำเพื่อสาธารณะประโยชน์ของแผ่นดิน แม้ในคณะกรรมาธิการมีผู้จัดการ กยศ.อยู่ด้วยแต่ท่าน ก็อาจจะตอบยาก เพราะว่าเป็นประกาศคณะกรรมการที่ออกโดยปลัดกระทรวงการคลัง และออกมาถึง 4 ฉบับ เมื่อเดือน ม.ค.64 จึงต้องถามเหตุผลเราอยากจะให้กฎหมาย กยศ.เป็นกฎหมายที่เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย” 

“ผมยังมองว่าประกาศที่ออกมาในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่เหมาะสมด้วยซ้ำ เพราะว่าคุณไปห้ามเขาออกจากบ้าน แล้วคุณก็ไปสั่งให้เขาทำสาธารณประโยชน์ คือการทำสาธารณประโยชน์ไม่ได้ทำอยู่ในบ้าน มันต้องเดินออกนอกบ้านไป แล้วเราไปจำกัดสิทธิพื้นที่ อันนี้เป็นปัญหา” เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าว 

พ.ต.อ.ทวี ซึ่งเกาะติดและเป็นหัวหอกผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย กยศ.มาโดยตลอด กล่าวอีกว่า การแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ในครั้งนี้ เราคิดว่า คณะกรรมการ กยศ. ใน พ.ร.บ.ปี 60 มันเหมือนเป็นคณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์จนเกินไป คือเป็นผู้เก็บเงิน กระทรวงการคลังก็เก็บเงินเก็บภาษี จะมีตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาฯ เข้ามาก็มีเล็กน้อย ส่วนนั้นก็จะเป็น ผอ.สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร เลขาสภาพัฒฯ แล้วพอไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ก็เอาคนกลุ่มข้าราชการเกษียณเข้ามา 

ดังนั้นในการแก้ไขครั้งนี้ เราก็มีการเสนอให้แก้ไขโครงสร้างคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากเดิม 5 คน เป็น 7 คน และใน 7 คน คณะกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอโครงสร้างของผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นสัดส่วนที่ไม่ให้ระบบราชการไม่ชี้นำจนเกินไป แต่ต้องประกอบด้วยบุคคลที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการศึกษาให้กฎหมายนี้เกิดการมีส่วนร่วมมากที่สุด และก็เกิดประโยชน์มากที่สุด  เพราะการศึกษาในอนาคต รัฐธรรมนูญเราเขียนหมดเลย ต้องมีกองทุนสำหรับผู้ยากไร้ เขียนคำว่า “ต้องมี” ไม่ใช่ “ควรมี” (หรือพึงมี) ปรากฏว่าต้องมีกองทุนสำหรับผู้ยากไร้ ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี ปรากฏว่านี่เลยมาแล้วก็ย้งไม่มี

นอกจากนั้นยังมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปรากฏว่ากองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา กลับไปที่คนที่เรียนฟรี 15 ปี ถึง 99 % ซึ่งคนกลุ่มนี้เขามีเงินอยู่แล้ว คนที่ยากไร้กลับไม่มีกองทุน ฉะนั้นอาจถือได้ว่ารัฐไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นที่ประชุม กมธ.จึงต้องมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ  

“เราเคาะเบื้องต้นว่าให้มีการปรับปรุงผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วก็เปิดกว้างว่าจะปรับปรุงผุ้ทรงคุณวุฒิ 7 คนให้จากด้านใดบ้าง ซึ่งในตัวผมเอง สิ่งที่นักศึกษาเสนอมา อย่างเช่น สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย มีกฎหมายของ พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) รองรับอยู่แล้ว ก็สมควรจะเลือกตัวแทนประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนก็มีความจำเป็น” 

พ.ต.อ.ทวี ในฐานะรองประธาน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กยศ. ยังบอกด้วยว่า กมธ.ทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง ตั้งใจให้เสร็จทันเปิดสมัยประชุมรัฐสภา แต่จะไม่รีบจนขาดความรอบครอบ หลายเรื่องตัว รมช.คลัง ที่เป็นประธาน กมธ. ก็ทักท้วงเองเลย หลังจากได้รับข้อมูลครบถ้วน 

ยกตัวอย่างง่ายๆ การไปเรียกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจากลูกหนี้ ใน พ.ร.บ.กยศ.ฉบับปัจจุบัน ทำให้ กยศ.มีสินทรัพย์ กยศ.ถึง 3 แสนล้านกว่าบาท การจะบริหารเงินตรงนี้ กฎหมายเดิมเปิดโอกาสไว้ในมาตรา 12 คือเงินที่เป็นกองทุน พรบ กยศ ปี 41 เราจะเอาแค่ดอกเบี้ยที่ไปฝากกับธนาคารพาณิชย์มาใช้เท่านั้น แต่ พรบ กยศปี 60 แก้ในยุค คสช ให้กองทุนสามจไปซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐได้ เช่น รัฐวิสาหกิจบางแห่ง มูลค่าหลักทรัพย์สูงขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นถ้า กยศ.เป็นมืออาชีพจริงๆ ต้องไม่ต้องไปเอากำไรจากเด็กนักศึกษาที่ไม่มีเงิน แต่ต้องบริหารจัดการให้เงินที่มีอยู่เพิ่มมูลค่ามากขึ้น 

“นักศึกษาเป็นหนี้ เขาต้องคืนเงินก็พอแล้ว เพราะสิ่งที่เขาคืนสังคมในเรื่องคุณภาพของคนที่ได้รับการศึกษาที่เป็นอนาคตที่ดี ถือว่าประเทศได้กำไร” เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น