วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565

"ทวี" เยี่ยมชุมชนซอยแดงบุหงา รับฟังปัญหาชาวบ้านถูกไล่ที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ นายไชยพล เดชตระกูล คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาชาติ นางสาวธนัญญรัชช์ เศรษฐาธิรัชฎ์ และ นายพลรักษ์ รักษาพล คณะทำงานยุทธศาสตร์ฯพรรคประชาชาติ ลงพื้นที่พบประประชาชน และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนในชุมชนซอยแดงบุหงา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โดยมีประชาชนในชุมชนร้องเรียนกับพันตำรวจเอก ทวี ถึงปัญหาความเดือดร้อนจากการถูกขับไล่ที่ 

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตอกย้ำสถานการณ์ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย หรือการไร้ที่อยู่อาศัย ที่ขาดความจริงใจจากรัฐบาล วันนี้ ผมและทีมงานได้เดินทางเยี่ยมเยียน และให้กำลังใจชุมชนแดงบุหงา ริมทางรถไฟมักกะสัน ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่ไล่รื้อจากโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงดังกล่าวจะอาศัยโครงสร้างและแนวเดินรถไฟเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย และสร้างทางเดินรถไฟส่วนต่อขยาย 2 ช่วง คือ 1) ตั้งแต่สถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา และ 2) จากสถานีพญาไทไปยังสนามบินดอนเมือง โดยจะมีศูนย์กลางอยู่ที่สถานีมักกะสัน 


การรถไฟเร่งไล่ที่ให้ถอนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินริมทางรถไฟ ภายในเส้นตาย 31 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านในชุมชนบางคนอาศัยอยู่ที่นี่มายาวนานกว่า 60 ปี จะเห็นว่าโครงการขนาดใหญ่รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจทุนนิยมเพียงด้านเดียว ทำให้เกิดผลกระทบต้องไล่รื้อ และพรากคนที่อยู่อาศัยในแนวพื้นที่โครงการจำนวนมาก จึงเป็นปัญหาที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส


รัฐอ้างว่า เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญา เพื่อการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่พบว่า เอกชนคู่สัญญาครบกำหนดชำระค่าให้สิทธิ์ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เป็นเงินจำนวน 10,671 ล้านบาทเศษ (ถึงกำหนดชำระวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ) เบี้ยวชำระเงินให้รัฐ ขอขยายระยะเวลาการชำระโดยอ้างปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด ทั้งที่เอกชนคู่สัญญาเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ กิจการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ที่เป็นบริษัทลูกของการรถไฟ มีมูลค่าการลงทุนเกือบ 4 หมื่นล้านบาท รัฐต้องกู้เงินเป็นหนี้สาธารณะ จำนวน 34,362 ล้านบาทเศษ เอกชนจ่ายค่าสัมปทานเพียงจำนวน 10,671 ล้านบาทเศษเท่านั้น รัฐต้องรับภาระหนี้ของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ อีกจำนวน 22,558 ล้านบาทเศษ คู่สัญญาสามารถเข้ามาหาผลประโยชน์ได้เลยทันทีเสมือน “เสือนอนกิน”  ขณะนี้เวลาผ่านเลยมา 6 เดือน รัฐยังมีความเมตตากับคู่สัญญาที่เป็นเอกชนอย่างไม่คำนึงถึงความชอบธรรม แต่สำหรับชาวบ้านไร้ที่อาศัยเป็นผู้เดือดร้อนไม่มีที่อาศัย ครอบครัวมีทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุจำนวนมาก มีความยากไร้ ปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง รายได้ตกต่ำ โรคระบาดโควิดในชุมชน กับการถูกขับไล่ออกจากบ้านที่อยู่มานานหลายชั่วอายุคน กลับไม่ได้รับการประนีประนอม รัฐยังไม่มีแผนสำรองในการหาที่อยู่ใหม่โดยทันที ซึ่งสถานการณ์ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย หรือการไร้ที่อยู่อาศัย เป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และยังเป็นปัญหาหนักยิ่งขึ้นที่ต้องถูกไล่รื้อจากโครงการพัฒนาที่ไม่เห็นคุณค่าของคนที่อาศัยอยู่เดิม













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น