วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2565

“มนตรี” เสนอ ยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง Connectivity Strategy ลดต้นทุน-ช่วยเกษตรกร

20 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.00น. ที่ผ่านมา มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดงานประชุมนานาชาติ International Conference on “International Security and the Environment” ภายใต้แนวคิดที่ว่า ห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตหลากหลายรูปแบบ องค์กรต่างๆ รวมทั้งบุคคลจำนวนมาก ต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรอไม่ได้ จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในการแก้ปัญหาโลกเพื่อที่จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในปี 2030 โดยการจัดงานดังกล่าว เพื่อเป็นเวทีสำหรับอภิปรายและแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงสร้างสรรค์  ร่วมกันถอดบทเรียนจากประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหภาพยุโรปในฐานะผู้นำด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศร่วมกับประเทศไทย กล่าวเปิดงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี Dr. Céline-Agathe Caro ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทย (KAS) ดร.ประเสริฐ พัฒนพลไพบูลย์ ผู้อำนวยการ สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) และมี นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย เข้าร่วมงานด้วย โดยมีทั้งบุคลากรในภาคประชาสังคม ภาคการเมือง ประชาชน นักศึกษา และเยาวชนที่สนใจ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก 

นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ระบุว่า ยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง (Connectivity Strategy) สำหรับอนาคตระหว่างประเทศ ในมิติเศรษฐกิจ, ความมั่นคงด้านการเกษตร มีความสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอาเซียน ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด Covid19 ยิ่งต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อการเติบโตไปสู่อนาคตที่มั่นคง ครัวเรือนไทยประกอบอาชีพหลากหลายโดยขึ้นอยู่กับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ โดยภาคเกษตรเป็นแหล่งรายได้สำคัญของครัวเรือนไทยในชนบท ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือการรับจ้างในภาคเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาในด้านการผลิต ส่วนใหญ่ยังคงผลิตสินค้าเกษตรรายย่อย และยังขาดการวางแผนและการจัดการอย่างเป็นระบบ รวมถึงปัญหาสำคัญอย่างราคาต้นทุนการผลิต นั่นคือ ปุ๋ย 

ประเทศไทยพึ่งการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศสูงถึง 90-95% และปัจจุบันมูลค่าต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า  ทั้งๆที่ ประเทศไทยมีทรัพยากรที่สามารถผลิตปุ๋ยได้เอง คือแม่ปุ๋ยไนโตรเจนที่ได้จากก๊าซธรรมชาติ และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมที่มีแหล่งแร่โพแทสเซียม อีกทั้งมีการนำเข้าสารเคมีวัตถุอันตราย เฉลี่ยปีหนึ่งมูลค่า กว่าสามหมื่นล้านบาท ปริมาณแสน กว่าตัน 

ทางออกของการลดต้นทุนเกษตรกร คือ ประเทศไทยควรทบทวนเรื่องการสร้างโรงงานปุ๋ยแห่งชาติของตนเอง ซึ่งปัจจุบันนี้น่าจะคุ้มทุน รวมทั้งการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-60) เพื่อแลกเปลี่ยนปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 กับประเทศเพื่อนบ้าน เน้นการนำบายโพรดักส์ที่อยู่ในรูปปุ๋ยไนโตรเจนมาช่วยเกษตรกรให้มากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่นจุลินทรีย์ ทดแทนการใช้สารเคมีหรือวัตถุอันตรายเป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น