วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558

“ยรรยง” ห่วง วิกฤติเศรษฐกิจ แนะ คสช. ใช้ประชานิยมช่วยเกษตรกร


นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงปีเศษที่ผ่านมา เศรษฐกิจภาคเกษตรได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ทั้งที่ผลผลิตลดลงมาก เพราะชาวนาถูกห้ามไม่ให้ทำนา ส่วนยางถูกโค่นนับแสนไร่ ปาล์มน้ำมันก็ลดลง ยังถูกซ้ำเติมด้วยกลไกตลาดที่อ่อนแอ ทำให้ราคาตลาด สินค้าเกษตรตกต่ำลงทุกตัว เป็นผลให้เศรษฐกิจพื้นบานของประเทศซึ่งประกอบด้วยประชากรส่วนใหญ่ คือเกินกว่า 20 ล้านคน และมีรายได้ต่ำอยู่แล้วต้องเดือดร้อนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ภาคเกษตรที่เคยเข้มแข็งและช่วยโอบอุ้มและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมและภาคการเงินช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ขณะนี้กลายเป็นผู้ประสบชะตากรรมเสียเองอย่างเหลือเชื่อ

มูลค่าความเสียหายในเบื้องต้น ประเมินจากสินค้าเกษตรหลักๆคือ ข้าวที่มีปริมาณผลผลิตลดต่ำลงประมาณร้อยละ 20-30 คือ ข้าวเปลือกจากปีละ 33-38 ล้านตัน (นาปี 22-25 ล้านตัน นาปรัง 8-10 ล้านตัน) จะเหลือเพียง ประมาณ 26-30 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสีย ประมาณ 100,000 ล้านบาทแล้ว ในด้านราคาข้าวที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตันละ 9,000-11,000 บาท ขณะนี้เหลือราคาประมาณตันละ 7,800-8,000 บาท ณ ความชื้น 15% (แต่ขณะนี้ชาวนาขายข้าวที่มีความชื้นสูง อาจถึง 25% ซึ่งได้ราคาต่ำกว่านี้มาก คือประมาณตันละ 6,000-6,800 บาทเท่านั้น) ราคาขายส่งข้าวสารเจ้า 5% สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตันละ 15,000-16,000 บาทขณะนี้ ราคาเหลือเพียงตันละ 11,400-11,600 บาทเท่านั้น ส่วนราคาส่งออกข้าวขาว 5% สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประมาณตันละ 450-500 เหรียญสหรัฐ ขณะนี้เหลือเพียง 350-380 เหรียญสหรัฐเท่านั้น ดังนั้น มูลค่าตลาดที่สูญเสียจากการตกต่ำของราคาซึ่งตกประมาณ 30,000-50,000 ล้านบาท รวมมูลค่าเศรษฐกิจที่ลดลงจากปริมาณการผลิตข้าวและราคาข้าวที่ตกต่ำ ประมาณ 130,000-150,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังปรากฏว่า ขณะนี้ผลกระทบยิ่งลุกลามไปถึงภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้าว คือโรงสี ในช่วงนี้ปรากฏว่ามีโรงสีประมาณ 100-200 ราย ได้หยุดและประกาศขายกิจการเพราะมีปริมาณข้าวน้อยลงมากและประสบภาวะขาดทุนจากราคาข้าวที่ตกต่ำ (ราคาขายส่งข้าวสารถูกพ่อค้าส่งออกกดราคา โดยอ้างว่าราคาส่งออกก็ตกต่ำเช่นกัน) นอกจากธุรกิจโรงสีแล้ว ยังมีธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่นการผลิตและขายเครื่องจักรกลการเกษตร การมีปุ๋ยและยาปราบวัชพืช รถรับจ้างไถนาและรถเกี่ยวข้าว เป็นต้น ถ้ารวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ก็จะตกเกือบ 200,000 ล้านบาททีเดียว
นายยรรยง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ราคาข้าวที่ตกต่ำเกิดจากกลไกตลาดที่อ่อนแอ และการระบายข้าวล่าช้า โดยเฉพาะในช่วงที่ยังไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาด เช่นช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน 2557 และยังเสียเวลาในการตรวจสอบคุณภาพและปริมาณซึ่งไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงมากและต้องเสียเวลานานมาก (ตามที่คณะทำงานที่รัฐบาลตั้งให้พิจารณาว่าการตรวจสอบและคัดแยกข้าวตามคุณภาพต้องใช้เวลาหลายสิบปี) ทั้งๆที่มีสัญญากำหนดตัวผู้รับผิดชอบในกรณีข้าวเน่าเสีย ข้าวตกมาตรฐานและคุณภาพ หรือข้าวผิดประเภท ตามความเป็นจริงแล้วไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลในฐานะผู้ขายข้าวจะต้องตรวจสอบคุณภาพเอง เพราะในทางปฏิบัติรัฐบาลก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจจะร่วมประมูลหรือผู้ซื้อไปตรวจสอบข้าวในโกดังอยู่แล้ว ผู้ส่งออกข้าวหรือผู้ซื้อทั่วไป ก็มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพ (เซอร์เวย์เยอร์) ของตัวเอง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและตรงไปตรงมา เพราะต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเองอยู่แล้ว การตรวจสอบที่ไม่จำเป็นซึ่งทำให้ระบายข้าวล่าช้าทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ ตามสภาพและกาลเวลา และยังต้องเสียค่าเช่าโกดังเก็บข้าวที่ยังไม่ได้ระบายต่อไปอีก นับเป็นความเสียหายต่อเนื่อง

ส่วนความเสียหายต่อเศรษฐกิจยางพารานั้น มีการโค่นยางพาราที่กำลังจะให้ผลผลิตนับแสนไร่ มูลค่ารวมอาจถึง 100,000-120,000 ล้านบาท นอกจากนี้ราคายางที่ตกต่ำก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจมาก เพราะราคาน้ำยางดิบสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กิโลกรัมละ 70-80 บาท ขณะนี้ราคาน้ำยางดิบประมาณกิโลกรัมละ 40 บาท รวมมูลค่าเศรษฐกิจที่ลดลงจากปริมาณการผลิตยางที่ลดลงจากการโค่นต้นยางและการลดพื้นที่เพาะปลูกและราคายางที่ตกต่ำลง คาดว่าประมาณ 150,000-200,000 ล้านบาท

ชาวสวนปาล์มแม้จะไม่ถูกจำกัดด้านปริมาณการผลิตเหมือนกับชาวนาและชาวสวนยางแต่เกษตรกรก็ได้รับผลกระทบจากราคาผลปาล์มดิบที่ลดต่ำลงค่อนข้างมาก ราคาปาล์มดิบสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กิโลกรัมละ 5.30-6.30 บาท ขณะนี้ราคาผลปาล์มดิบลดเหลือ กิโลกรัมละ 3.00-3.50 บาท ผลผลิตรวมประมาณปีละ 12 ล้านตัน จึงวิเคราะห์ได้ว่ามูลค่าเศรษฐกิจปาล์มน้ำมันเฉพาะรายได้ของเกษตรกรชาวสวนปาล์มลดลงประมาณ 25,000-35,000 ล้านบาท

นายยรรยง พวงราช แสดงความเห็นว่า นโยบายที่ผิดพลาดในช่วงที่ผ่านมานี้ เพราะรัฐบาลกลัวผีประชานิยม และเข้าใจผิดว่าถ้าเข้าไปช่วยเกษตรกรด้วยงบประมาณจำนวนมาก จะถูกโจมตีว่าเป็นประชานิยม โดยเฉพาะถ้าไปแทรกแซงกลไกตลาดและกลไกราคา และน่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดว่ากลไกตลาดสินค้าเกษตรเหล่านี้เป็นกลไกตลาดที่สมบูรณ์มีการแข่งขันทุกระดับอย่างแท้จริงและกลไกราคาที่มีอำนาจต่อรองเท่าเทียมกันในทุกระดับ ซึ่งตรงกันข้ามกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง ความจริงแล้วเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวนาแทบไม่มีอำนาจต่อรองใดๆเลย เพราะกลไกการผลิตการตลาดปัจจุบันต้องอาศัยทุนและปัจจัยภายนอกทั้งหมด เช่นรถไถ รถเกี่ยวข้าว ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เครื่องอบความชื้นและโรงสีข้าว เป็นต้น โรงสีก็มีอำนาจต่อรองน้อยเมื่อเทียบกับผู้ส่งออกข้าว ผู้ส่งออกก็ต้องพึ่งผู้นำเข้า ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือให้ทุกฝ่ายมีอำนาจต่อรองที่เหมาะสมเพื่อให้มีการแข่งขันอย่างแท้จริง

นายยรรยง กล่าวในตอนท้ายว่า “ขอวิงวอนรัฐบาลโดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจใหม่ ให้ทบทวนนโยบายที่ได้ทำไปแล้วและหามาตรการที่เป็นรูปธรรมและช่วยเหลือให้ได้ผลต่อเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ทั้งที่เป็นมาตรากรด้านการตลาดและราคา และด้านการผลิต โดนมาตรการที่จะช่วยเกษตรกรได้อย่างแท้จริงในระยะยาวคือ การทำให้กลไกตลาดเข้มแข็งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือเกษตรกรและชาวนา โดยการเพิ่มอำนาจต่อรองให้เกษตรกรอย่างแท้จริง ซึ่งในบางสถานการณ์รัฐบาลจะต้องยอมรับโอนความเสี่ยงจากเกษตรกรมาช่วยบริหารจัดการเองด้วย” และนายยรรยงยังกล่าวทิ้งท้าย ว่าที่ตนเองออกมาให้ความเห็นและขอเสนอแนะครั้งนี้ไม่ได้ต้องการโจมตีรัฐบาลแต่เห็นว่านโยบายเกษตรกรของรัฐบาลมีปัญหาและผลกระทบมาก และในขณะนี้ ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลกำลังต้องการระดมสมอง จึงได้เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น