วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

"Health Care" 30บาทรักษาทุกโรคในอนาคตของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

กองบรรณาธิการ Social Media สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 สถานีประชาชน ขอพาทุกท่านเข้าถึงมุมมองของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่อ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการที่เป็นที่พึงของประชาชนจำนวนมากมาจนถึงปัจจุบัน


อะไรคือ 30 บาทรักษาทุกโรค?

โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเริ่มตั้งแต่ พ.ศ 2544 ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยบรรจุเป็นนโยบาย ซึ่ง ดร. ทักษิณ ชินวัตรตัดสินใจผลักดันโครงการนี้ เพื่อให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล อย่างเท่าเทียมมีศักดิ์ศรี บนพื้นฐาน ของการบริการที่มีคุณภาพและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพ เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ของคนไทยทุกคน (Health Care) และลดค่าใช้จ่ายในภาพรวม (Cost reduction) ระบบได้วางหลักการ คือเห็นความสำคัญและให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทุกคนร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาท มิใช่ระบบสงเคราะห์หรืออนาถา รวมทั้งเป็นการกลั่นกรองว่าเจ็บป่วยจริงจนจำเป็นต้องใช้บริการและยินดีร่วมจ่าย ซึ่งทำให้เกิดความสมดุลของระบบ

ในฐานะที่หน่อยเป็นคนที่ได้รับมอบหมายให้นำโครงการนี้มาสู่การปฏิบัติ รู้สึกเป็นห่วงการดำเนินโครงการ 30 บาทในปัจจุบันที่ผิดไปจากวัตถุประสงค์เดิม ที่เน้นการสร้าง Health Care แต่ปัจจุบันระบบนี้กำลังเดินเข้าสู่ Sick care ที่ต้องใช้งบประมาณสูงขึ้นโดยที่มีผู้ป่วยมากขึ้นด้วย

ปัญหาของ 30 บาทรักษาทุกโรคในปัจจุบัน?

รัฐบาลที่เกิดจากคณะปฏิวัติทั้งสองครั้งเปลี่ยนแปลงระบบ มุ่งเน้นสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล แต่ไม่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยกเลิกการเก็บ 30 บาท เพิ่มค่าเหมาจ่ายรายหัวอย่างก้าวกระโดด จัดสรรงบลงทุนจำนวนมาก มีการจัดการเฉพาะโรค (Disease Management) และหันมาจ่ายเงินตามบริการคัดกรองโรค รักษา หรือการเจ็บป่วย โดยเงินเหมาจ่ายทั้งหมด 100% จัดการโดยเกณฑ์ของสปสช. ทุกก้อนทั้ง ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน บริการรักษาพยาบาล บริการเฉพาะ และอื่น ๆ ทั้งหมด ทำให้เกิดการโยกย้ายเงินเหมาจ่ายรายหัวไปให้พื้นที่ที่มีการเจ็บป่วยมาก เป็นการส่งเสริมให้เกิดความเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น (Sick Care) พื้นที่ที่ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้ดี จนทำให้ประชาชนสุขภาพดีเจ็บป่วยน้อย (Health Care) กลับถูกทำโทษให้ได้รับเงินน้อยลง ทุกหน่วยบริการเร่งขยายบริการรักษาพยาบาลให้มากขึ้น ภาระงานเพิ่มจนต้องเพิ่มคนไม่หยุดยั้ง ทำให้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มเป็น 3,109.87 บาทต่อคนในปีพ.ศ. 2560 แล้วยังมีรพ.ขาดสภาพคล่องอีกถึง 5,000 ล้านบาท ผลกระทบที่ตามมาคือ ระบบถูกผลักดันให้กลายเป็น Sick Care ประชาชนเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น บุคลากรมีงานเพิ่มขึ้น คุณภาพบริการแย่ลง โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องมากขึ้น และเพิ่มเงินเท่าไรก็ไม่พอ ท้ายที่สุดก็พยายามจะผลักภาระให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบ

การแก้ไขพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแก้ปัญหาหรือไม่?

กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในหลาย ๆ เครื่องมือที่ประกอบกันเป็นระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค การแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะมีการเพิ่มสัดส่วนข้าราชการประจำในกรรมการบริหาร และกรรมการควบคุมคุณภาพหรือไม่ การจำกัดบทบาทขององค์กรประชาชน รวมทั้งการเปิดช่องให้มีการร่วมจ่ายหรือไม่ ก็ตาม จึงเป็นการดัดแปลงเครื่องมือชิ้นหนึ่งเท่านั้น ตราบใดที่ยังมุ่งสู่ทิศทาง สร้างโรคเพิ่มขึ้น (Sick Care) ใช้เงินเพิ่มขึ้น ไม่มีความเท่าเทียมกัน และประชาชนยังไม่ได้รับบริการอย่างมีศักดิ์ศรี ก็ยังคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อยู่ดี

30 บาทรักษาทุกโรคในอนาคต?

การปรับทิศทางหันไปสร้างสุขภาพให้เกิด Health Care อย่างแท้จริง การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบและกลับมาทำให้ทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล อย่างเท่าเทียมมีศักดิ์ศรี บนพื้นฐาน ของการบริการที่มีคุณภาพและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพ เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ของคนไทยทุกคน และลดค่าใช้จ่ายในภาพรวม (Cost reduction) เหมือนหลักการตอนเริ่มต้นโครงการเท่านั้น จึงจะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น