วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563

"จาตุรนต์" เตือนสติกองทัพ การรัฐประหารไม่ใช่เครื่องมือแก้ไขความขัดแย้ง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ชวนคิด ชวนคุยถึง 19 กันยา 49 กันครับ

การรัฐประหารแต่ละครั้ง คณะผู้ก่อการมักจะอ้างปัญหาความขัดแย้ง เป็นหนึ่งในเหตุผลเพื่อก่อการ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว

.

ตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย คมช. จนถึงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. ล้วนแต่ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมเบาบาลง แม้อาจจะทำให้ดูเหมือนความขัดแย้งยุติไปในบางช่วง แต่ก็เป็นการยุติชั่วคราว หรือ พักความขัดแย้งไว้ระยะหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้หมดไป แต่จะเป็นการสะสมความขัดแย้งใหม่มากขึ้น จากปัญหาและเงื่อนไขต่างๆ แล้ววันหนึ่งความขัดแย้งที่สะสมขึ้นมาใหม่นั้นก็จะปะทุ บวกกับความขัดแย้งเดิมที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข ก็จะเป็นปัญหาที่มากกว่าเดิม  

.

เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ก็เป็นความต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 

และการรัฐประหารปี 2557 กับรัฐธรรมนูญ 2560 ก็กำลังนำพาสังคมไทยไปสู่เงื่อนไขความขัดแย้งใหม่ ที่ซับซ้อนมากขึ้นและเป็นปัญหามากกว่าเดิม   

.

ซึ่งเรื่องนี้ผมได้ให้สัมภาษณ์ เอาไว้แล้วในปี 2560

จึงขออนุญาตนำเนื้อหาส่วนหนึ่งมาเผยแพร่อีกครั้ง ในโอกาสที่ทุกฝ่ายกำลังกล่าวถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 

.

...

“ปี 2549 กำลังมันก้ำกึ่ง ยึดอำนาจแล้ว เขียนกติกาแล้ว ต้องการสร้างระบบการปกครองที่กำหนดได้หมด แต่กำหนดไม่ได้เพราะว่าคนออกเสียงลงคะแนนไม่ยอม เขาก็ต้องไปใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญมาจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จัดการไปแล้ว มีเลือกตั้งอีก ประชาชนก็ยังไม่ยอม แถมมีพลังนอกสภาเกิดขึ้นด้วย ก็เลยต้องยึดอำนาจอีกรอบและเขียนกติกาใหม่ กติกาคราวนี้นอกจากเตรียมไว้จัดการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ยังสร้างกติกาที่ต้องการให้เกิดรัฐบาลที่มาจากคนนอก คือออกประตูไหนก็ได้ จัดการได้หมด แต่คำถามอยู่ที่ว่าพลังประชาธิปไตย พลังของผู้ออกเสียง พลังของพรรคการเมือง จะอยู่ในสภาพที่ยังชักเย่อต่อไปหรือไม่ ต้องดูกันต่อ หรือว่าจะถูกดึงจนล้มระเนนระนาด”

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ (รัฐธรรมนูญ 2560) ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ซึ่งจะทำให้เราอยู่ภายใต้การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนไม่สามารถกำหนดความเป็นไปของประเทศได้ มีแนวโน้มที่จะมีรัฐบาลจากคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือต่อให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อาจจะทำอะไรได้ไม่มาก เพราะถูกกลไกในรัฐธรรมนูญล็อกเอาไว้

เราก็กำลังเดินไปสู่สภาพที่รัฐบาลไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และยังต้องทำงานภายใต้กรอบของนโยบายแห่งรัฐ แผนปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกำลังทำกันอย่างขะมักเขม้น แต่เป็นการทำโดยไม่มีวิสัยทัศน์ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เต็มไปด้วยปัญหาและความยุ่งเหยิง แนวโน้มคือจะนำไปสู่ประเทศที่ล้าหลัง ปรับตัวยาก เพราะแผนปฏิรูปก็ดี ยุทธศาสตร์ชาติก็ดี สิ่งเหล่านี้มันล้าหลังและแก้ไขยาก รวมทั้งรัฐธรรมนูญเองก็แก้ไขยาก ในขณะที่โลกเปลี่ยนเร็วมาก

ในระยะใกล้ๆ คงจะยังไม่เกิดความรุนแรง แต่ความขัดแย้งเดิมในสังคมไทยที่ยังไม่ได้แก้ มันจะสะสมเป็นความขัดแย้งใหม่ๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายต่างๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การออกกฎหมาย ออกกติกาต่างๆ ผ่าน สนช. ผ่านคำสั่ง คสช. สิ่งเหล่านี้จะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง แต่สังคมไทยก็เบื่อหน่าย หวาดกลัว ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงและความวุ่นวาย โอกาสที่พลังของฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐประหาร ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ที่เคยเคลื่อนไหวมาแล้ว เคยมีบทบาทมาแล้ว จะกลับมามีบทบาทมากๆ จนเป็นต้นเหตุนำไปสู่ความขัดแย้งบานปลายน่าจะยังไม่เกิดขึ้นได้เร็ว

“แต่เมื่อมีการสะสมปัญหา ความขัดแย้งเก่าไม่แก้ ความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้นมากมาย มันเหมือนเป็นระเบิดเวลา มีกับระเบิดเต็มไปหมด สังคมก็กำลังเดินไปอยู่ความขัดแย้งที่ไม่สามารถแก้ได้โดยกระบวนการที่อยู่ในตัวระบบเอง เช่น จะแก้คำสั่ง คสช. ที่ส่งผลเสียต่อประชาชนต้องไปแก้กฎหมาย ซึ่งพรรคการเมือง สภาผู้แทนก็แก้ให้ไม่ได้ จะแก้รัฐธรรมนูญ แก้ยุทธศาสตร์ชาติ ก็แก้ไม่ได้ มันก็รอวันระเบิด เพียงแต่มันอาจเป็นเรื่องของผู้ที่เจอกับปัญหาในอนาคต จะเป็นใคร จะเกิดขึ้นอย่างไร เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ผมไม่สามารถจินตนาการไปได้ รู้แต่ว่าแนวโน้มไม่ดีเลย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น