วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2563

วงเสวนาติดตามงบฯ บี้รัฐเร่งเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม


วงเสวนา ติดตามการใช้งบประมาณ ชี้ กทม.จัดงบ ไร้ประสิทธิภาพ วางผังเมืองไม่ตอบโจทย์การอยู่อาศัย คุณภาพชีวิตประชาชน แนะ เร่งเลือกผู้ว่า กทม. ส.ก. และ ส.ข. เพิ่มกลไกถ่วงดุลโดยเร็ว

คณะกรรมาธิการการจัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรจัดสัมมนา ในหัวข้อ "ผ่าตัดงบประมาณรวมพลังสร้างกทม." โดยเชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร นักวิชาการ และอดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานครร่วมเสวนา

นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณ ของ กรุงเทพมหานคร โดยย้อนหลังไป 7 ปี จะเห็นได้ว่าใช้งบประมาณไปกว่า 5แสน 1หนึ่งหมื่น 7พันล้านบาท แต่ยังพบเห็นปัญหาที่ซ้ำซาก พร้อมหยิบยกโครงสร้างการบริหารของกรุงเทพฯขึ้นมาอภิปราย ซึ่งยังขาดการบูรณาการเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยงบยังเน้นการลงถึงในระดับเขตแต่งบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่สำนักเป็นหลัก รวมถึงอีกหลายๆกรณี หลายโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน สูญเสียงบประมาณ

เช่นโครงการจัดซื้อรถเรือดับเพลิงกว่า 6 พันล้านบาทแต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เรื่องงบประมาณด้านอนามัยเช่น โครงการจัดสร้างโรงฆ่าสัตว์ซึ่งใช้งบกว่า 900 ล้านบาท แต่ไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่แพร่ เชื้อโรคต่างๆ รวมถึงปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ปัญหาการเก็บขยะไม่ทัน หรือปัญหาการบำบัดน้ำเสีย รวมถึงปัญหาด้านสาธารณสุข แม้จะมีการลงทุนต่อเนือง และใช้งบประมาณมหาศาลก็ตาม  ดังนั้นปัญหาเหล่านี้จึงสะท้อนว่าผู้บริหารของกรุงเทพฯแต่ละชุด ไม่ได้หยิบแผนงานที่จะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชาวกรุงเทพฯขึ้นมาใช้ แต่เน้นการเดินหน้าตามนโยบายของตนเอง จึงทำให้งบประมาณบางส่วนอาจสูญเปล่า 

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าในส่วนของงบกลางกรุงเทพฯที่ถูกตั้งไว้สำหรับให้ผู้บริหารกรุงเทพฯใช้จ่ายนั้นมีความสุ่มเสี่ยงว่าจะมีความไม่โปร่งใส หรือไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน จึงเป็นอีดหนึ่งหน้าที่ ที่คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร จะได้ช่วยกันติดตามตรวจสอบ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า กรุงเทพฯมีงบประมาณมหาศาล แต่ยังมีการบริหารงานที่ล้าหลัง ทั้งการจัดสรรงบประมาณ การจัดผังเมือง โดยเห็นว่าการจัดผังเมืองไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมคิด ส่วนร่วมจัดการ หากผังเมืองดีชีวิตของประชาชนก็จะดี และการจัดผังเมืองของกรุงเทพฯไม่สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัย ปัญหาน้ำท่วม การระบายหรือคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ ขณะที่การจัดสรรงบประมาณไม่ได้สอดคล้องกับพื้นที่และจำนวนประชากร 

อีกมีปัญหาคือ การที่ผู้อำนวยการเขตเป็นบุคคลที่มาจากส่วนกลางและไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ผู้อำนวยการเขตไม่ต้องรับรู้ ถึงความทุกข์ยากเมื่อประชาชนเกิดปัญหา ขณะที่การตรวจสอบ การใช้งบประมาณ ด้วยกลไกที่เคย ปฏิบัติมาก็ถูกตัดไป

ด้านนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย มองว่า กรุงเทพมหานครไม่เคยสอบถาม หรือ พูดคุย กับประชาชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริงก่อนดำเนินโครงการต่างๆ เช่นการอนุญาตให้ BTS ใช้ที่ดินโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ในส่วนดังกล่าว ขณะที่อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็แพงที่สุดในโลก ทำให้ปัจจุบันคนทีมีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงได้ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์เดิมที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ทุกกลุ่ม รัฐบาลต้องมีหน้าที่เข้าไปเจรจากับเอกชนที่เข้ามาลงทุนโดยเฉพาะในมิติของค่าโดยสาร ที่ต้องเปิดโอกาสให้เป็นบริการเพื่อการขนส่งมวลชนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันนายประภัสร์ เห็นว่าการลงทุนทั้งการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าหรือการพัฒนาเครือข่ายเส้นทางสัญจรต่างๆ จะต้องยึดประชาชนเป็นหลัก จึงจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นายประเสริฐ ทองนุ่น อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯซ้ำซาก เกิดจากการบริหารจัดการ ซึ่งละเลยสิ่งที่ควรจะเร่งแก้ไขปัญหา เช่นการพัฒนาพื้นที่ฟลัดเวย์ ขณะที่การจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นเร่งด่วน "สิ่งที่ควรทำไม่ทำ สิ่งที่ยังไม่ควรทำกลับทำ" ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการสั่งการลงมาจากผู้มีอำนาจ 

ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณจำเป็นต้องกลับมาทบทวน ว่าควรมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถใช้ประโยชน์จากการพัฒนา ต่างๆไม่ว่าจะเป็นสถานีสูบน้ำการพัฒนาพื้นที่คลองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะที่ข้าราชการส่วนใหญ่ ก็ละเลยที่จะทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน รวมถึงกลไกสมาชิกสภาเขตเอง ก็ไม่สามารถเดินหน้าทำงานได้

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย เชื่อว่าผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯทราบถึงปัญหาต่างๆ แต่ไม่คิดจะดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะขาดการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้เร่งรัดผลักดันอย่างจริงจัง ดังนั้นสมาชิกสภาเขตจึงจำเป็นต้องมี หากเรามีการถ่วงดุลในระดับเขต ก็จะ ทำให้การพัฒนาสามารถเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมองว่าการรัฐประหารทำให้เสียเวลาพัฒนา ดังนั้นจึงขอเสนอให้เร่งเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยเร็ว และไม่ควรเกินเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงสมาชิกสภากรุงเทพฯ สมาชิกสภาเขต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น