วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" กังวลทุจริตโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย และ นายอนุสรณ์ เอี่ยวสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงกรณีการทุจริตโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

โดย นายประเดิมชัย กล่าวว่า “จากการติดตามการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในโครงการคลินิกอบอุ่น ซึ่งมาจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเดิมนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลคลินิกอบอุ่น 200 คลินิก พบว่า มีการทุริตโดยการทำเอกสารเป็นเท็จเพื่อไปเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะในกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไขมัน เป็นต้น ซึ่งต้องมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาผล แต่ในความเป็นจริงไม่มีการให้บริการจริง ไม่มีการนำผลเลือดจริงไปตรวจ แต่มีการนำเอาข้อมูลเท็จมาเบิกจ่ายงบประมาณรวม 18 คลินิก ที่ถูกตรวจสอบในปี 2562 รวม 74 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ สปสช. ได้เรียกคืน และยกเลิกการทำสัญญากับ 18 คลินิกดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ในรอบ 10 ปี มีการเบิกงบไปแล้ว จำนวน 2,913 ล้านบาท แต่เพิ่งตรวจพบการทุจริตและเรียกเงินคืนเฉพาะในปี 2562 เท่านั้น แต่ปี 2555 - 2561 และในปี 2563 ยังไม่มีการตรวจสอบความผิดปกติ จึงขอให้ สปสช. ตรวจสอบและเรียกเงินที่เป็นยอดทุจริตกลับคืนมา”

นายประเดิมชัย กล่าวว่า “นอกจากนี้บริษัทที่ให้ผลแลปปลอม สปสช. ก็ไม่เคยออกมาพูดว่า จะเอาผิดกับบริษัทที่เสนอผลแลปปลอมเพื่อมาเบิกงบแต่อย่างใด ทั้งนี้ ในส่วนของกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน กมธ. ได้บรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาแล้ว โดยในวันที่ 23 กันยายนนี้ ทาง กมธ. จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สปสช.กทม. เขต 13 ซึ่งดูแลคลินิกดังกล่าวเข้ามาชี้แจงต่อไป และเมื่อได้ข้อมูลการทุจริตเรียบร้อย ตนจะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปราการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบต่อไป”

ด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า “เราได้ติดตามโครงการนี้มาหลายเดือนแล้ว เริ่มจากเราเห็นระบบบริหารจัดการที่ผิดเพี้ยน และผู้นำรัฐบาลไม่ได้เข้าใจในหลักการของโครงการนี้ โครงการแย่ลง ทั้งที่ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น งบประมาณมาโตที่ส่วนกลาง ไม่ได้กระจายงบฯลงไปที่โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล จึงเปิดช่องให้มีการทุจริตจำนวนมาก ผู้ให้บริการ คือหมอพยาบาลก็ไม่มีความสุข ผู้รับบริการก็ได้รับบริการที่ลดลง ทั้งนี้ เราพบการทุจริจในหลายรายการ เช่น การทุจริตผลแลป และเรื่องคลินิกชุมชน ในห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการทุจริตอย่างมโหฬาร ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ กทม. เราพบว่า ห้วงไม่กี่ปีมีการใช้งบฯ ถึง 2,900 ล้านบาท ซึ่งลงไปอยู่ในคลินิกที่เจ้าของ หรือเครือข่ายแพทย์เพียง 3 กลุ่มเท่านั้น (เครือเพชรเกษมคลินิก เครือเรือพระร่วง และเครือข่ายของ สปสช.) คือมีการทุจริตกันตั้งแต่การคัดเลือกคลินิก โดยมีล็อกสเปก ทั้งที่มีคลินิกที่พร้อมมากมายแต่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าไป และแม้จะมีการแฉทุจริต การตรวจสอบเรื่องทุจริตก็ยังไม่คืบหน้า และยังพ่วงเอาคลินิกที่อาจจะไม่ได้ทุจริตพ่วงเข้าไปด้วย การแก้ไขปัญหาทุจริตทำแบบลูบหน้าปะจมูก ทั้งที่ควรดำเนินการสอบสวน ดำเนินคดี แล้วค่อยสั่งปิด แต่กลับสั่งปิดก่อน จะเพื่อกลบหลักฐานหรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่มีการหาสถานพยาบาลมารองรับก่อนสั่งปิด แล้วไปจับผู้ป่วยยัดใส่สถานพยาบาลที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เกิดความแออัด และทำให้ประชาชนได้รับกระทบกว่า 1 ล้านคน นอกจากแออัดแล้ว ยังไกลจากบ้านมาก ผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องเมื่อมีการย้ายสถานพยาบาลเจอปัญหามาก เพราะคิวของสถานพยาบาลที่มีอยู่ก็ล้นอยู่แล้ว ขณะนี้ประชาชนร้องเรียนมายังพรรคเพื่อไทยจำนวนมาก เราจึงมองว่า การแก้ไขปัญหาทุจริตต้องลากมาตั้งแต่ต้นตอ”

“พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วน และต้องแก้ไขอย่างถูกทิศถูกทาง สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นี้โดยการไม่ตรวจสอบ ไม่ดำเนินคดี และสั่งปิดอย่างเดียว ไม่สามารถลากคนทุจริตออกมาลงโทษได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันการรับสถานพยาบาล หรือคลินิกเฉพาะกลุ่มพวกเดียวกันเพียง 3 กลุ่ม เราเสนอว่า เรื่องค่าใช้จ่ายรายหัวควรเป็นสิทธิของประชาชน เช่น ประชาชนอยู่ในเขตบึงกุ่ม สปสช.ต้องรับสถานพยาบาลมากกว่า 1 แห่ง ในเขตนั้น และให้สิทธิในการเลือกใช้สถานพยาบาลเป็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิ ไม่ใช่บังคับให้ประชาชนเลือกใช้คลินิกใดคลินิกเดียว นอกจากนี้ สปสช.ต้องสอบการทุจริตทั้งระดับคลินิก และระดับใน สปสช.ด้วย พร้อมทั้งเร่งแก้ปัญหาให้ประชาชนกว่า 8 แสนคน โดยเร่งหาสถานพยาบาลที่มีคุณภาพมาเพิ่มเติม" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น