วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

"จีน" หนุน "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" เดินหน้าศึกษาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง

"นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกองบรรณาธิการ InsideThaiGOV ถึงความคืบหน้าการศึกษาโครงการ "รถไฟฟ้าความเร็วสูง" ในโอกาสร่วมคณะนายกรัฐมนตรี เยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ

นายกฯยิ่งลักษณ์พร้อมคณะตรวจเยี่ยมกิจการรถไฟความเร็วสูงของจีน
ถือเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์วงการรถไฟไทย เมื่อนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ และเป็นสักขีพยานในพิธี “ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านรถไฟ (Memorandum of Understanding Concerning Feasibility study for Cooperation on railway Development Between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the People’s Republic of China) ซึ่งมีเนื้อหาให้ทั้งสองฝ่ายจัดตั้งคณะกรรมการระดับรัฐมนตรี เพื่อประสานงานขยายผลการศึกษาด้านการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งครอบคลุมทุกทิศทั่วประเทศ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมฝ่ายไทยคือ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรถไฟจีน นายเซิ่ง กวาง จู่ ร่วมลงนาม

ไทยถือเป็นประเทศที่มีรถไฟใช้ ในระดับต้นๆของภูมิภาคก่อตั้งมา 122 ปี แต่ระบบรถไฟไทยไม่ได้มีการพัฒนามาเลย จนกระทั่งในยุคของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เมื่อปี 2547 สายกรุงเทพ-นครราชสีมา แต่ปรากฏว่าโครงการต้องสะดุดไปเมื่อเกิดการรัฐประหาร

รถไฟความเร็วสูง ถือเป็นโครงการที่ภาคเอกชนไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กรอ.) ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2555 กรอ.ได้เสนอให้รัฐบาล เร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่ง ครม. มีมติให้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เร่งพิจารณารายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยกำหนดรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนตามที่ได้มีการตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2554 รวมทั้งศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และทำการศึกษาความเหมาะสมทางการเงินและเศรษฐศาสตร์ของโครงการโดยละเอียด



ขณะที่ ครม. สัญจรที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 กรอ. มีข้อเสนอเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-หนองคาย ตามที่ รฟท. ได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาระบบรางและรถไฟความเร็วสูงของกระทรวงคมนาคมไว้เมื่อปี 2553 วงเงินประมาณ 700,000 ล้านบาท โดยในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำหนดการก่อสร้างเส้นทางบางซื่อ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร วงเงิน 149,000 ล้านบาท เชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และจีนภาคตะวันออก รวมทั้งเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 ซึ่งที่ประชุม ครม. มีมติให้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ศึกษาไว้ พร้อมทั้งเร่งดำเนินการเสนอโครงการฯ ตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกัน เมื่อเดือน ธันวาคม 2554 ระหว่างการเดินทางเยือนไทยของ รองประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ได้มีการหยิบยกประเด็นรถไฟฟ้าความเร็วสูง ขึ้นเป็นหนึ่งในประเด็นสนทนาระหว่างการหารือข้อราชการเต็มคณะกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีการประสานงานจากนั้นเป็นต้นมา จนนำมาสู่การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทยและจีนดังกล่าวในวันนี้ (18 เมษายน 2555) จึงถึอเป็นก้าวสำคัญที่โครงการ “รถไฟฟ้าความเร็วสูง” จะได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที หลังรอมานานกว่า 7 ปี

การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงดังกล่าว มีแผนในการก่อสร้างทั้งหมด 4 สาย คือ
  • กรุงเทพ-พิษณุโลก (ต่อเนื่องยาวถึงเชียงใหม่)
  • กรุงเทพ-นครราชสีมา (ต่อเนื่องยาวถึงหนองคาย)
  • กรุงเทพ-ระยอง
  • กรุงเทพ-หัวหิน
โอกาสแห่งความร่วมมือกับจีนในลักษณะนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยงเส้นทางในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region) ที่มีไทยเป็นศูนย์กลาง และจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ หรือกลุ่มอาเซียน สามารถเชื่อมต่อไปยัง ที่กำลังจะมีการรวมตัวกันทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม และการเมืองในปี 2558 เนื่องจากเส้นทางเชียงใหม่ และหนองคาย ที่อยู่ในความร่วมมือไทย-จีนนั้น สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งผลิต และตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ดังนั้น นอกจากรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะช่วยแก้ปัญหาด้านการขนส่ง ทั้งขนส่งมวลชนและขนส่งผลิตภัณฑ์เกษตร-อุตสาหกรรมทั้งหมด ช่วยประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งได้จำนวนมหาศาลต่อปีแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่สามารถขนส่งนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนมายังประเทศไทยได้มากกว่า 100,000 คนต่อปี

จึงนับเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถครองความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในอันดับต้นของภูมิภาคได้ในช่วงเวลาอีก 10 ปีต่อจากนี้ไปด้วยวิสัยทัศน์ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น