วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

“วาทะกรรมสกัดปรองดอง กรรมของประเทศไทย”

บทความโดย กองบรรณาธิการ InsiderNewsFeed

นายภูมิธรรม เวชยชัย
ณ วันที่ 22 เมษายน 2555 คงเป็นอีกวันที่การเมืองไทยถูกบันทึกในหน้าข่าวของสื่อฯต่างๆ ถึงความขัดแย้ง ความไม่ลงรอย การไม่ยอมรับในความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งนำผลให้ภาพรวมของบรรยากาศปรองดอง เป็นไปในทางลบ ไม่แปลกที่สังคมประชาธิปไตย จะมีหลายฝ่ายที่มีแนวคิดไม่สอดคล้องกัน จนอาจนำพาความขัดแย้งตามมา ด้วยเหตุผลนี้ จึงจำเป็นต้องมีการบัญญัติมาตรากฎหมายต่างๆมาเพื่อรองรับแนวปฏิบัติที่สังคมยอมรับได้ โดยวัดจากเสียงข้างมาก มาเป็นตัวกำหนดนโยบายให้เป็นไปตามที่คนส่วนใหญ่ต้องการ และเป็นการแสดงออกถึงการเคารพซึ่งกันและกัน และการมีวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมนั้นๆ อีกทั้งเป็นส่วนผลักดันให้ประเทศที่สังคมนั้นๆอาศัยอยู่ร่วมกัน มีแนวทางที่จะเดินหน้าผลักดันให้ประเทศนั้นๆเจริญก้าวหน้าต่อไปได้

นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นอีกคนหนึ่งที่รู้สึกถึงภาวะความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ผ่านวาทะกรรมทางการเมือง ที่สามารถถ่ายทอดและสะท้อนแนวคิดของฝ่ายที่ผลิตวาทะกรรมได้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งการนำวาทะกรรมมาเพื่อใช้จูงใจ ในการหักล้างฝ่ายตรงข้ามได้อย่างแนบเนียนนั้น กำลังแสดงออกได้ชัดเจนว่าสังคมกำลังดีขึ้นหรือเสื่อมถอยลง

นายภูมิธรรม กล่าวว่า "การสถาปนาความยุติธรรมของผู้ชนะ","เสียงข้างมากลากไป", ล่าสุดคือ "ทวงคืนอำนาจจากนักการเมืองเลว" ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆหน้าสโมสรทหารบก เมื่อวานนี้ ดูเหมือน Movement. และวาทกรรมการเมืองเหล่านี้ เกิดขึ้นมาในช่วงสถานการณ์ที่มีการเรียกร้องและมีการดำเนินการเพื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกสถาปนาขึ้นและเป็นผลิตผลที่ต่อเนื่องของการใช้อำนาจรัฐประหารฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนร่างขึ้นในปี พ.ศ.2540

“ไทยเป็นประเทศที่แปลก ตลอดเวลา 80ปีของประชาธิปไตยไทย เราไม่เคยมีความอดทนที่เพียงพอเลยที่จะปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยเราได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น แปลกแต่จริง ในการเมืองไทย เวลามีรัฐประหารยึดอำนาจ ล้มล้างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วสถาปนาความชอบธรรมของตนขึ้น เรายังไม่ค่อยได้เห็นพรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการที่มีบทบาทหลายคน ได้ออกมาต่อต้านและแสดงตนคัดค้านการรัฐประหารที่สถาปนา "ความยุติธรรมของผู้ชนะ" เลย ตรงข้ามกลับเห็นแต่ท่าที การยอมรับ "คณะรัฐประหารในฐานะองค์รัฐฐาธิปัตย์ที่มีความชอบธรรมและหวังดีต่อบ้านเมือง" คนที่ไม่เคยต้ังคำถาม "ความยุติธรรมของผู้ชนะ" ต่อคณะรัฐประหาร วันนี้เขาควรยังมีสิทธิ์มาตั้งคำถามนี้กับผู้อื่นหรือไม่?”

นายภูมิธรรม ยังกล่าวอีกว่า มีอีกวาทกรรมหนึ่งที่น่าอึดอัดใจคือวาทกรรม "เสียงข้างมากลากไป" ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นจากฝ่ายเสียงข้างน้อย ซึ่งเชื่อว่านักเรียนรัฐศาสตร์คงงงอยู่เวลานี้ "เสียงข้างน้อย"ในสังคมประชาธิปไตยไทย กำลังพยายามลากถูลู่ถูกังให้ระบอบประชาธิปไตยไทยเกิดพลิกผันแปลกๆ และแตกต่างไปจากประชาธิปไตยของที่อื่นๆเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ แต่เมื่อพวกตนสูญเสียอำนาจหรือสูญเสียบทบาทลงไป ก็มักหันกลับมาคิดค้น ประดิษฐวาทกรรมใหม่ๆ ที่อำนวยประโยชน์ให้พวกตน โดยมิได้คำนึงถึงหลักการใดๆ การเคลื่อนไหว "ทวงคืนอำนาจจากนักการเมืองเลว" ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้หน้าสโมสรทหารบก เป็นสัญญาณเตือนภัยที่เป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจน ต้องขอบคุณกองทัพบกและปรบมือให้ผู้บัญชาการทหารบกที่ไม่ยอมให้กองทัพถูกชักนำเข้าไปเป็นเครื่องมือให้กลุ่มคนเหล่านั้น

นายภูมิธรรม ยังกล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า เราจำเป็นต้องตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตยและยืนอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงและความยุติธรรม เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ใช้เวลาในการทำความเข้าใจและรู้จักให้อภัย เพื่อจะก้าวข้ามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไปให้ได้ ที่สำคัญ ต้องเร่งทำความจริงให้ปรากฎและให้คนที่เป็นผู้นำสูงสุดที่รับผิดชอบในระดับนโยบาย ผู้นำสูงสุดในระดับนโยบายในขณะเกิดเหตุการณ์ ต้องยอมรับผิดและแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ผิดพลาดร้ายแรงที่เกิดขึ้น จึงจะจบลงได้ด้วยดี

นอกจากนี้ นายภูมิธรรม ยังได้แสดงความคิดเห็นต่อท่าทีการดำเนินการเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่า เมื่อได้ฟังการอภิปรายของฝ่ายค้านเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระ2 ตลอด 6วันที่ผ่านมา ถือว่าพรรครัฐบาลมาถูกทาง และต้องช่วยกันเฝ้าจับตามองการเคลื่อนไหวต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะเป็นการส่งสัญญาณแปลกๆที่ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย

“เรื่องความปรองดอง" ก็เห็นด้วยกับหลายคนว่า "เรื่องการสร้างความปรองดอง ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ” นายภูมิธรรม กล่าว

เสียงจากทุกฝ่ายที่ต่างฝ่ายต่างสะท้อนความคิดเห็น หรือวาทะกรรมกันมาล้วนเป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น ที่ไม่ว่าใครก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่เนื่องจาก 5 – 6 ปีที่ผ่านมา ประเทศบอบช้ำจากการกระทำของผู้ที่อยู่ร่วมประเทศเดียวกันมามากแล้ว ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ “การปรองดอง” จะเข้ามามีบทบาททั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หรือจะให้ “การปรองดอง” เป็นแค่ “วาทะกรรมทางการเมือง” ที่จับต้องไม่ได้ และสัมผัสไม่ถึง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น