วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

"ยิ่งลักษณ์" โชว์ศักยภาพผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ยืนยันให้ความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนพัฒนาลุ่มน้ำโขง


วันนี้ (21 เม.ย. 55) เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “Cooperation Between Japan and Mekong Region Countries”ณ ห้อง Hagoromo พระราชวัง Akasaka ดังนี้ นายกรัฐมนตรีเดินทางถึงพระราชวัง Akasaka โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รอรับ จากนั้นเมื่อผู้นำทั้งหมดเดินทางถึง นายกรัฐมนตรีร่วมถ่ายภาพกับผู้นำลุ่มน้ำโขงและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ณ ห้อง Sairan จากนั้น ผู้นำฯและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ณ ห้อง Hagoromo

เมื่อเริ่มต้นการประชุม นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวเปิดการประชุม และเริ่มต้นการประชุมด้วยประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือลุ่มน้ำโขง- ญี่ปุ่น โดยผู้นำแต่ละประเทศจะได้มีการนำเสนอความคิดเห็น และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะเป็นผู้สรุปในตอนท้าย โดยนายกรัฐมนตรีได้นำเสนอในประเด็นความร่วมมือดังกล่าว สรุปดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าว ถึงการเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นของไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพราะเห็นว่าทุกประเทศในอนุภูมิภาคมีความเชื่อมโยง พึ่งพาซึ่งกันและกันอย่างแยกไม่ได้ ไทยจึงมีนโยบายให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศลุ่มน้ำโขงในกรอบทวิภาคีมานานกว่า 20 ปี

โดยนายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศลุ่มน้ำโขงจำนวน 6 แสนล้านเยนในช่วง 3 ปีข้างหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงด้านคมนาคมถือเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยช่วยเชื่อมโยงพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญให้ได้รับการพัฒนา ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ไทยจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่ผ่านมา ไทยให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกือบ 20 โครงการ และในปีนี้ได้จัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกราว 883 ล้านเยนหรือประมาณ 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการให้ความช่วยเหลือทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความช่วยเหลือทางวิชาการต่อประเทศลุ่มน้ำโขง

"ยิ่งลักษณ์" โชว์ศักยภาพผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ยืนยันให้ความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนพัฒนาลุ่มน้ำโขง
ให้ความสำคัญช่วยประเทศเพื่อนบ้านเดินหน้าประชาคมอาเซียน ค.ศ 2015
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างความร่วมมือที่สำคัญที่ได้ร่วมกันดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือ การจัดการประชุมระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาแนวพื้นที่ เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และแนวพื้นที่เศรษฐกิจทางใต้ ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงเส้นทางเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างกัน ทั้งนี้ ดิฉันเห็นว่า ไทยและญี่ปุ่นอาจขยายเป้าหมายการดำเนินความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำเพื่อความมั่นคงของแนวพื้นที่เศรษฐกิจดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงการเพิ่มความสามารถในการรองรับความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยพิบัติให้กับพื้นที่เศรษฐกิจ ตามเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจดังกล่าว โดยใช้ประโยชน์จากความรู้ความเชี่ยวชาญของญี่ปุ่นในเรื่องการเตรียมพร้อมและการบริหารจัดการภัยพิบัติ

สำหรับเส้นทางตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจทางใต้นั้น นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลไทยสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยจะบรรจุโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างกรุงเทพฯ กับชายแดน ไทย-เมียนมาร์ ในแผนงานงบประมาณตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปด้วย จึงขอเชิญญี่ปุ่นพิจารณาให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าวต่อไปด้วย นอกเหนือจากความร่วมมือในกรอบลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ไทยเห็นว่าญี่ปุ่นสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดน ทั้งในกรอบอาเซียน+1 และอาเซียน+3 ด้วยการอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดนเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยไทย เวียดนาม และ สปป. ลาวจะจัดการประชุม 3 ฝ่ายตามเส้นทางแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และเส้นทางอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงไทย-สปป. ลาว และเวียดนาม เช่น เส้นทางหมายเลข 12

นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนให้รัฐสภาเห็นชอบ ในการนี้ ไทยขอชื่นชมญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญต่อการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยริเริ่มข้อเสนอ “Asia Cargo Highway” เพื่อปรับปรุงขั้นตอนทางศุลกากรระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมระบบ National Single Window ของแต่ละประเทศสมาชิกด้วยไทยเห็นว่าการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ “ความเป็นหุ้นส่วนใหม่เพื่ออนาคตที่รุ่งเรืองร่วมกัน ” จำเป็นต้องดำเนินการร่วมกันโดยทุกภาคส่วน ดิฉันจึงยินดีที่ Tokyo Strategy ให้ความสำคัญต่อ “การพัฒนาร่วมกัน” เป็นเสาหลัก ที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชนในการขับเคลื่อน

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และขอชื่นชมที่ภาคเอกชนได้มีส่วนสำคัญในการจัดทำแผนปฏิบัติการของข้อริเริ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในเวทีการประชุมภาครัฐ-เอกชนที่ผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารเคดันเรน และ JCCI เมื่อวานนี้ และเห็นว่ากิจกรรมในลักษณะดังกล่าวมีประโยชน์มากไทยให้ความสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน และอยู่ในระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติร่วมทุนระหว่างภาครัฐ-เอกชน ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางคมนาคมให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมที่กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค ในส่วนของไทย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริม SMEs อย่างต่อเนื่อง และล่าสุด ได้ดำเนินมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาธุรกิจที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย โดยได้อนุมัติการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติมูลค่าประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยคุ้มครองครัวเรือนและผู้ประกอบการรวม 1.54 ล้านราย ในวงเงินคุ้มครองประมาณ 86,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายกรัฐมนตรีเห็นว่าไทยและญี่ปุ่นอาจร่วมกันสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน และให้ SMEs ประเทศลุ่มน้ำโขงได้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีทั้งในกรอบ ASEAN และ ASEAN-Japan โดยผ่านกิจกรรมการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SMEs ในประเทศลุ่มน้ำโขงในสาขาที่เป็นประโยชน์ เช่น การเปิดเสรีทางการค้า บริการ และการลงทุน โดยจะขอให้สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสานงานวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งภาคเอกชนของญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไทยได้กำหนดให้มีการปรับโครงสร้างการผลิตและบริการจากภัยพิบัติและสถานการณ์วิกฤตเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศยุทธศาสตร์ดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดการบริหารจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤต และการบริหารจัดการเพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งหวังให้ห่วงโซ่ธุรกิจได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการเกิดภัยพิบัติ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่นำมาประยุกต์ใช้ คือ แนวคิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดภัย โดยส่งเสริมให้ธุรกิจสร้างเครือข่ายธุรกิจสำรองเพื่อให้ธุรกิจที่ประสบภัยสามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงักเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยที่ญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพยากรณ์อากาศ และเตือนภัยล่วงหน้า

นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ญี่ปุ่นสามารถมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศลุ่มน้ำโขง ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีในการเตือนภัย รวมทั้งเตรียมความพร้อมของประชาชนในการรับมือกับภัยธรรมชาติรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ เป็นที่น่ายินดีที่ที่ประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 ที่บาหลีเมื่อปี 2554 ได้สนับสนุนให้มี การหารือระหว่างศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ที่กรุงเทพฯ กับศูนย์ลดภัยพิบัติแห่งเอเชีย ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น และหวังว่าการหารือของทั้งสองศูนย์จะนำไปสู่ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป นอกเหนือจากเรื่องความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติดังกล่าวแล้ว

นายกรัฐมนตรีได้ถือโอกาสนี้เน้นถึงความสำคัญของเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะที่เป็นผู้หญิงและแม่ นายกรัฐมนตรีขอสนับสนุนความพยายามในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่นในการบรรลุเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดเป้าหมาย การรักษาชีวิตแม่และเด็ก ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทสตรีด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อเสริมสร้างสวัสดิภาพ และสวัสดิการของสตรี นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เข้าร่วมโครงการ Every Woman Every Child ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของโลกสำหรับสุขภาพสตรีและเด็ก ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความริเริ่มของเลขาธิการสหประชาชาติ ไทยจึงมีความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความรู้และ ความร่วมมือในเรื่องนี้

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นอย่างยิ่ง เพราะตระหนักดีว่า ความมั่นคงและความมั่งคั่งของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือ ความมั่นคงและความมั่งคั่งของประเทศไทยด้วย ดังนั้น ไทยจะร่วมมือกับญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงทุกประเทศอย่างแข็งขัน เพื่อพัฒนาภูมิภาคนี้ให้มีความเจริญรุ่งเรืองและประโยชน์สุขร่วมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น