วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

“นรวิชญ์” เผย “ยิ่งลักษณ์” ท้วง4ข้อคดีจำนำข้าว เร่งรีบรวบรัด ขัดระเบียบ-กฎหมาย-หลักนิติธรรม


วันนี้ (วันที่ 13 ตุลาคม 2558) ทนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัวของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นหนังสือ เปิดผนึกของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ถึง พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้พลเอกประยุทธ์  ใช้อำนาจทางการบริหารชี้ถูกผิดกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฝ่ายบริหารด้วยกันไม่ถูกต้อง เรียกร้องหากสอบสวนเสร็จควรส่งฟ้องศาลพิจารณา  ถือเป็นหลักนิติธรรมที่ควรดำเนินการ

นายนรวิชญ์ กล่าวว่า  ได้รับมอบหมายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ให้มายื่นหนังสือเปิดผนึก ถึง พลเอกประยุทธ์  นายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ ร่วมกับ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด  ตามคำสั่งที่ 448/2558  ลงวันที่ 3  เมษายน 2558 และกรณีที่มีข่าวว่า  รัฐบาลกำลังจะใช้อำนาจทางการบริหาร  หรือมาตรการทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 57  ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชำระหนี้ทางละเมิดนั้น

ทนายนรวิชญ์ กล่าวว่า  นางสาวยิ่งลักษณ์  เห็นว่า  การสอบสวนตามคำสั่งไม่เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และหลักนิติธรรม หลายประการ  กล่าวคือ

1.  พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่  พ.ศ. 2539    และ  มาตรา 4   ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 นั้น    ไม่รวมถึงตำแหน่ง  “นายกรัฐมนตรี” และนางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของพลเอกประยุทธ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่จะออกคำสั่งให้มีการสอบสวน

2. ตามพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539  มาตรา  4  ระบุไว้ชัดเจนว่า  พระราชบัญญัตินี้  มิให้ใช้บังคับกับแก่  (1) รัฐสภาและคณะรัฐมนตรี  (3)  การพิจารณาของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีในทางนโยบายโดยตรง

ฉะนั้นรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ ไม่อาจใช้มาตรการทางปกครอง มาตรา 57 มาบังคับชำระหนี้กับนางสาว ยิ่งลักษณ์ ในการบริหารโครงการรับจำนำข้าว ในทางนโยบายของคณะรัฐมนตรีได้

3.  ข้อกล่าวหาในคดีอาญาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น นางสาว        ยิ่งลักษณ์ ถูกกล่าวหาในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่เป็นการทั่วไปว่า ละเว้น หรืองดเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะนายกรัฐมนตรี  ไมใช่ถูกกล่าวหาว่า   นางสาวยิ่งลักษณ์  ในฐานะนายกรัฐมนตรี   ใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นๆ   อันจะเป็นข้อพิพาททางละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ

4.  ในคดีอาญา ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ถูกฟ้อง  ในข้อหา  ว่า ละเว้น หรืองดเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะนายกรัฐมนตรี  คดียังไม่ถึงที่สุด  และอายุความทางคดีก็ยังมีเวลาอีกนาน

การที่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ เร่งรีบ รวบรัด จะใช้มาตรการทางปกครองตามมาตรา 57  ตามพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539  จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์  จะเสนอให้พลเอกประยุทธ์ ใช้อำนาจบริหาร หรือมาตรการทางปกครองมาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายบริหารด้วยกัน ในการบังคับชำระหนี้ต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ชดใช้ค่าเสียทางละเมิด แทนที่จะใช้กลไกทางศาลให้พิจารณาพิพากษาคดี

คงจำได้ว่าก่อนหน้านี้ ท่านอาจารย์ วิษณุ  ได้ให้ข่าว มาตลอดว่า ยังไม่แน่จะฟ้องศาลไหน  และเป็นห่วงเรื่อง  “ ค่าธรรมเนียมศาล “  จนมีอดีตผู้นำฝ่ายค้าน ออกมาให้ข่าวว่า  ติติง  อ.วิษณุ  ว่า  “ ไม่ควรกังวลค่าธรรมเนียมศาล  จะเสียค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ ก็ต้องฟ้อง”  แต่อยู่ดีๆวันนี้ อ.วิษณุ  จะเลี้ยวมาใช้มาตรการทางปกครอง  ตามมาตรา 57  แทนที่จะให้ศาลชี้ถูกผิดหากเห็นว่าเกิดความเสียหาย

จึงเรียกร้อง ให้มีกระบวนการสอบสวนที่ถูกต้องเที่ยงธรรม ไม่มีการชี้นำ ครอบงำ การสอบสวน และหากการสอบสวนเสร็จสิ้นและหากเห็นว่ามีความเสียหายขอให้ใช้กลไกทางศาลโดยให้ศาลพิจารณาพิพากษา เท่านั้น

ทนายนรวิชญ์  ยังกล่าวอีกว่า  ส่วนที่ปรากฏต่อสื่อมวลชน  เมื่อวานนี้ว่า ท่านอาจารย์ วิษณุ     ท่านอ้างว่า   “  ความผิด ของนางสาวยิ่งลักษณ์   ที่ ป.ป.ช. ชี้และส่งมาให้รัฐบาลดำเนินการ ระบุว่าเป็นการจงใจกระทำผิดต่อหน้าที่ หรือ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งเข้าเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539  หากเป็นการกระทำที่ไม่จงใจ หรือ ไม่ใช่การประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงจะเข้าเงื่อนไขยื่นฟ้องศาลตามปกติได้ ”    และยกตังอย่าง คดีของคุณเริงชัย   มะระกานนท์ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย  นั้น

ต้องขอขอบคุณ ท่านอาจารย์ วิษณุ   ที่นำคดีของคุณ เริงชัย   มะระกานนท์ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมาเทียบเคียง  เพราะคดีของคุณเริงชัย   ถูกกล่าวหาว่า “ เป็นการจงใจกระทำผิดต่อหน้าที่ หรือ ประมาทเลินเล่อร้ายแรง  ”คล้ายกับที่นางสาวยิ่งลักษณ์    ถูกกล่าวหา

แต่คดีของ คุณเริงชัย  ภายหลังที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้น  รัฐบาลหรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย  ในขณะนั้น    ไปฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกร้องให้คุณเริงชัย  ชดใช้ค่าเสียหาย ประมาณ  แสนกว่าล้านบาท   โดยไม่ได้ใช้อำนาจตาม มาตรา 57  แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ทนายนรวิชญ์    จึงขอเรียกร้อง ให้ท่านอาจารย์ วิษณุ   ในฐานะฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล ได้แนะนำ ให้รัฐบาลว่า      ภายหลังคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้น  หากมีความเสียหาย ก็ให้ฟ้องร้องต่อศาล  ซึ่งถือว่าเป็นคนกลาง  เพื่อให้เป็นผู้พิจารณาพิพากษา   เช่นเดียวกับคดีของคุณเริงชัย    มะระกานนท์     อย่าแนะนำให้รัฐบาลเลี้ยวมาใช้ มาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539  เพียง เพราะไม่ต้องการจ่ายค่าธรรมเนียมศาลเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น