วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558

“ชยิกา” ย้อนพูดUN ขัดเร่งฟ้องจำนำข้าว ละเมิดสิทธิฯ-ให้ข่าวเสมือนผู้กระทำผิด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "แซนด์-ชยิกา วงศ์นภาจันทร์" (บุตรสาว นางเยาวเรศ ชินวัตร) ในฐานะอดีตคณะทำงานจัดทำนโยบายพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook : Sand Wongnapachant โดยมีเนื้อหาดังนี้

"สิทธิมนุษยชน" กับ "การบังคับใช้กฎหมาย"
8 ตุลาคม 2558

สิทธิมนุษยชนมีมาและมีอยู่ควบคู่กับความเป็นมนุษย์ รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตย ถึงกับกล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ย่อมได้รับความคุ้มครองและเคารพ ทว่าเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้กล่าวถึง “สิทธิมนุษยชน” ในอีกทัศนะหนึ่งว่า “สิทธิมนุษยชนไม่ได้หมายความว่าให้คนทำผิดกฎหมายได้ สิทธิมนุษยชนเขาทำให้ดูแลสิทธิของผู้บริสุทธิ์ ไม่มีความผิด ถูกรังแก และเป็นไปตามประชาคมโลก” ซึ่งฟังดูแล้ว เผินๆ อาจจะเข้าใจได้ว่าผู้พูดให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างยิ่งยวด แต่ในความเป็นจริงต้องตั้งคำถามว่าเป็นดังคำกล่าวหรือไม่
ในความเป็นจริงตามหลักสากล “สิทธิมนุษยชน” เป็นของมนุษย์ทุกคนและไม่สามารถแยกออกจากความเป็นมนุษย์ได้ แม้กระทั่งผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเพราะทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน แต่ปัญหาความแตกแยกในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ที่การใช้หลักสิทธิมนุษยชนกับคนที่ทำผิดกฎหมาย หากแต่อยู่ที่ “การบังคับใช้กฎหมาย” โดยเลือกปฏิบัติ ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน เพราะเมื่อใดที่ “กฎหมาย” ถูกนำมาบังคับใช้แบบ “เลือกปฏิบัติ” คือนำเอากฎหมายมาบังคับใช้เฉพาะกับคนที่ไม่ใช่พวกตัวเอง

เมื่อนั้นการบริหารประเทศจะเรียกได้ว่าคำนึง “หลักสิทธิมนุษยชน” หรือ “หลักนิติธรรม” ได้อย่างไร ยังไม่รวมไปถึงกฎหมายที่จะตราขึ้นว่าชอบและคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพราะกฎหมายที่ออกโดยคนคนเดียว ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนในตัวของมันเองอยู่แล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้คนเคารพกฎหมายเช่นนั้น

และการที่ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองหลายรายในปัจจุบัน ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่เป็นที่สิ้นสุด แต่กลับมีการชี้นำ “ระบายสี” ให้ใครหลายคนกลายเป็น “แพะรับบาป” ของสังคมอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน การกระทำเช่นนี้จะเรียกได้ว่าเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือ เพราะตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล “ผู้ถูกกล่าวหา” คือ “ผู้บริสุทธิ์” จนกว่าจะได้รับการพิพากษาว่าผิด
ประกอบกับฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลยังได้ให้สัมภาษณ์วานนี้ (8 ตุลาคม 2558) ว่า “คำสั่งทางปกครองของนายกรัฐมนตรีมีวิธีบังคับได้เทียบเท่ากับคำตัดสินของศาล” ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการดำเนินการโดยใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีในทางปกครองผ่านกระทรวงการคลังที่จะดำเนินการให้คณะกรรมการสรุปและเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยไม่ประสงค์ให้ผ่านการชี้ขาดของศาล จึงต้องตั้งคำถามว่าการดำเนินการเช่นนี้ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนสากลและพันธกรณีที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติหรือไม่ เนื่องจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 (International Covenant on Civil and Political Rights Article 14) นั้นได้กล่าวไว้ว่าในการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหาทางอาญาพึงได้รับสิทธิในการผ่านกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลาง ซึ่งการดำเนินการในปัจจุบัน การพิจารณาคดีในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่ได้เริ่มไต่สวนเลยด้วยซ้ำ ประกอบกับสถานะของคดีโครงการรับจำนำข้าวในปัจจุบันยังคงอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบบัญชีพยานเท่านั้น การเร่งรัดดำเนินการเอาผิดในทางแพ่งโดยที่ทางอาญายังไม่ได้ชี้ว่าผิด ทั้งๆที่ เป็นประเด็นข้อกล่าวหาเดียวกัน กรณีนี้ก็ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอยู่ในตัว

เช่นนี้แล้ว ถ้าคนที่ยังไม่ถูก “ตัดสินทางกฎหมาย” ว่าผิด แต่ถูกกระทำ “เสมือนว่า” เป็นผู้มีความผิด ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายของไทยเป็นไปตามหลัก "สิทธิมนุษยชน" ตามที่ได้กล่าวเป็นคำมั่นสัญญาไว้กับประชาคมโลก!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น