วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

"เพื่อไทย" แถลงจุดยืนและข้อเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย เผยแพร่แถลงการณ์ ผ่านเว็บพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับจุดยืนและข้อเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาดังนี้

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย
จุดยืนและข้อเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ตามที่จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งในช่วงต่อจากนี้  พรรคเพื่อไทยจึงได้รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกพรรคและผู้สนับสนุนพรรค ที่มีต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อเสนอเป็นถ้อยแถลงแสดงจุดยืน และเป็นข้อเสนอของพรรค ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ดังนี้

1. การร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ควรมีปรัชญาและเป้าหมายที่ชัดเจนให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เป็นการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเมืองอย่างยั่งยืน

2. เนื่องจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 แล้ว ประกอบกับระยะเวลาตามโรดแม็พ ก็ขยายออกไปเรื่อยๆ ขณะที่ประชาคมโลกได้แสดงความกังวลและกดดัน มาโดยตลอด รวมทั้งกรณีที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้  แต่ประเทศไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญเลย ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เร่งรัดการร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

3. เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดให้นำร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างฯ จัดทำเสร็จแล้ว ไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ดังนั้นคณะกรรมการร่างฯ จึงควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตั้งแต่เริ่มต้นยกร่างและควรดำเนินการอย่างกว้างขวางทั่วถึง และที่สำคัญไม่ควรปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ที่เกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ

4. โครงสร้างของรัฐธรรมนูญไม่ควรให้ใหญ่โต เทอะทะ จำนวนหมวดและจำนวนมาตราก็ไม่ควรมีมากนัก ถ้อยคำและข้อความในเนื้อหาควรกระชับเข้าใจง่าย และไม่เป็นนามธรรม เพราะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ใช่การเขียนรายงานหรืองานวิจัยทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ควรเขียนให้กระชับ เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ไม่ต้องตีความอีก

5. เงื่อนไขในการร่างรัฐธรรมนูญ หรือกรอบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งมีอยู่ 10 ประการ (บัญญัติสิบประการ) ถือเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง ในการร่างรัฐธรรมนูญให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เป็นการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเมืองอย่างยั่งยืน และที่สำคัญทำให้คณะกรรมการร่างฯ ขาดอิสระในการร่าง คณะกรรมการร่างฯ  จึงควรตั้งหลักให้ได้ว่าข้อจำกัดดังกล่าวมิได้มาจากความเห็นชอบของประชาชน เป็นกรอบกว้างๆ ที่เป็นนามธรรม การตีความให้เป็นคุณ ยึดหลักนิติธรรมและหลักการประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

6. การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในประเด็นการออกเสียงประชามติตามมาตรา 37 นั้น ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือฉบับปี 2550 มาใช้บังคับเป็นการชั่วคราว และให้ กกต. ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 120 วัน ทั้งนี้โดยต้องระบุในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว  ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป

7. พรรคเพื่อไทยขอยืนยันข้อคิดเห็นและข้อเสนอของพรรคที่เคยเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ซึ่งสรุปสาระสำคัญโดยย่อดังต่อไปนี้

1) ต้องยึดหลักการประชาธิปไตย ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง  มิใช่เป็นของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

2) วางกลไกการบริหารจัดการประเทศ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ องค์กร  ตามรัฐธรรมนูญและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล

3)  สร้างดุลและระบบตรวจสอบ ที่เหมาะสมต่อทุกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย โดยประชาชนมีส่วนร่วม

4) ไม่ออกแบบให้ฝ่ายบริหารเป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ วางกลไกการบริหารจัดการประเทศ  ที่รังแต่จะนำไปสู่ความล้มเหลวและความขัดแย้ง ไม่สามารถแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้

5)  มุ่งสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สร้างโอกาสให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่สร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นใหม่

6)  ต้องไม่มีวาระซ่อนเร้น เพื่อมุ่งสืบทอดอำนาจของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใด

7)  ต้องกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้แทนโดยตรง และผู้นำฝ่ายบริหารต้องมาจากตัวแทนที่ประชาชนเลือกเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งที่สังคมไทยคุ้นเคย เข้าใจดีและไม่มีปัญหา มีแต่จะยิ่งสร้างความยุ่งยาก มีปัญหา และไร้ประสิทธิภาพ

8) รัฐธรรมนูญต้องเปิดโอกาสให้บุคคลมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้อย่างกว้างขวาง ไม่สร้างข้อจำกัดที่ไร้เหตุผล ข้อจำกัดอันเกิดจากกลไกที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพียงเพื่อต้องการกำจัดพรรคการเมืองบางพรรคและนักการเมืองบางฝ่าย

9)  ต้องมีระบบกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม

10) รัฐธรรมนูญต้องอยู่บนพื้นฐานที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ไม่ควรกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากจนเกินไป

พรรคเพื่อไทย
14 ตุลาคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น